history history
 
   
iconประเทศไทย 4.0 [   สิงหาคม  2559 ]

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายท่านคงได้ยินกระแสคำว่า  ประเทศไทย 4.0 หรืออุตสาหกรรม 4.0 กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยและ SMEs ไทย ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาคเอกชนชะลอการลงทุน เนื่องจากปัจจัยหลายประการ และที่สำคัญยังขาดการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐในการนำความรู้จากการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งหากมีการเชื่อมต่อถึงกัน จะสามารถนำมาช่วยภาคธุรกิจ SMEs ได้ โดยมีความมุ่งหวังว่าในปี 2025 ประเทศไทยจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ได้  อย่างไรก็ตามมีประเด็นคำถามตามมาว่า ประเทศไทย 4.0 หรืออุตสาหกรรม 4.0 คืออะไร

ประเทศไทยมีพื้นฐานเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ และขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม หากจัดลำดับพัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบันจะพบว่า ประเทศไทย 1.0 เน้นเกษตรกรรม ประเทศไทย 2.0 เน้นอุตสาหกรรมเบา และประเทศไทย 3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนัก คำถามคือเราจะก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างไร โดยโมเดล 4.0 คือการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ(Value Based Economy) ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรม แต่ยังต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เป็นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากรต้องเปลี่ยนเป็นการผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี(Technology Base)  และการปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการปฏิรูประบบการศึกษาในการสร้างแรงงานที่มีทักษะความรู้เรื่องเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ตัวอย่างอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) อาหาร(Foodtech) ชีวภาพ(Biotech) สุขภาพ (Healthtech) ระบบหุ่นยนต์(Robotech)  ดิจิตอล(Digital and IOT) และการออกแบบและการท่องเที่ยว(Designtech and Traveltech) เป็นต้น

 ประเทศไทย 4.0  เป็นโยบายหนึ่งในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดัก 3 ประการคือ 1) กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) 2) กับดักความเหลื่อมล้ำ (Inequality Trap) และ3) กับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา (Imbalance Trap)  ในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยทั้งเก่าและใหม่ เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0  ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2015 คาดว่าจะสำเร็จภายในปี  2025 แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่เพียงแค่การยอมรับแนวคิดและเงินทุนเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นำมาประกอบการพัฒนา เช่น ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ต่อไป

สมาคมยางพาราไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อก้าวสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขอบคุณและสวัสดีครับ

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด