history history
 
   
iconงานเลี้ยงประจำปี 2560 [   พฤษภาคม  2560 ]

 

สมาคมยางพาราไทย ได้กำหนดจัดงานเลี้ยงประจำปี 2560  เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และจัดการแข่งขันกอล์ฟในวันเดียวกัน ณ สนามริเวอร์เดลกอล์ฟคลับ จังหวัดปทุมธานี  โอกาสนี้สมาคมฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจและสถิติครั้งที่ 18 และคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งที่ 18 ของสภาธุรกิจยางอาเซียน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ การจัดงานเลี้ยงประจำปีครั้งนี้มีแขกผู้สนใจ นักธุรกิจ ผู้เกี่ยวข้องในวงการยางภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  เข้าร่วมงานกว่า 1,000 ท่าน  และได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเข้าร่วมงานและกล่าวสุนทรพจน์ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ยางพารานับว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและของโลก นับตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยได้เลื่อนฐานะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2559 ประเทศไทยผลิตยางทั้งสิ้น 4.16 ล้านตัน ส่งออก 3.6 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากในอุตสาหกรรมยาง ราคายางลดลงอย่างรุนแรง แตะระดับต่ำสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่กิโลกรัมละ 1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ท่ามกลางเงินดอลลาร์แข็งค่าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำในแนวทาง 3 ด้าน คือ 1. การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพยางพารา 2.การแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และ 3.การสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ  โดยผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้ 1.  โครงการโค่นยางตามเป้าหมายปีละ 400,000 ไร่ 2. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการปลูก กรีด เก็บ ให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น 3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อรวบรวมยาง 4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยาง 5. โครงการพักชำระหนี้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อลดภาระสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินในขณะที่สถานการณ์ราคายางยังไม่ฟื้นตัว 6. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง              7. โครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา 8. โครงการยางล้อประชารัฐ ภายใต้แบรนด์ TH-TYRE ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่จะนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยผู้บริโภคจะได้ใช้ล้อยางที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล (ISO) และผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น คงทน ใช้งานได้ยาวนาน และมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปถึง 20-30 %

ส่วนการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำภายใต้กรอบความร่วมมือสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ITRC ได้จัดประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า กรณีที่มีการควบคุมโควตาการส่งออกเป็นผลทำให้ราคายางพาราอยู่ได้ในระดับราคา 3 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม และส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ  รวมถึงให้ดำเนินการปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทนต้นยางพาราที่มีอยู่เดิม

 การจัดงานเลี้ยงประจำปี 2560 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือร่วมใจอย่างดีเยี่ยมจากคณะกรรมการบริหารสมาชิกและทีมเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ในนามสมาคมยางพาราไทย กระผมขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง และคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ให้แน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด