การประกอบธุรกิจยางมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน
ทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง ภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ผลิตยาง ผู้ส่งออก และผู้ใช้ยาง
รวมทั้งองค์การยางระหว่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทและมีความสำคัญคือสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ
(International
Tripartite Rubber Council : ITRC) ประกอบด้วยสมาชิกภาครัฐจาก 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ
จำกัด(International Rubber Consortium Limited : IRCo) ทำหน้าที่กองเลขานุการ
สำนักงานตั้งอยู่ที่สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคายางพาราและช่วยเหลือให้เกษตรกร
ผู้ส่งออกขายยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรม
และรักษาความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานยางพาราให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดในระดับราคาที่เป็นธรรม
สภาไตรภาคีฯ ดำเนินการผ่านมาตรการที่สำคัญได้แก่ มาตรการจัดการด้านปริมาณการผลิต(Supply
Management Scheme : SMS) มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออก(Agreed
Export Tonnage Scheme : AETS) และมาตรการส่งเสริมการใช้ยาง(Demand
Promotion Scheme : DPSC) เป็นต้น โดยนายกสมาคมยางพาราไทย ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสภาไตรภาคียาง
ฯ และกรรมการบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด สภาไตรภาคียางฯ มีกิจกรรมการประชุมอย่างเป็นทางการปีละ
2
ครั้ง
ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุด รัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาไตรภาคียางฯ
ครั้งที่ 28 ในวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2560 ณ
โรงแรม Impiana กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี Puan Zurinah Pawanteh หัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม ในการนี้นายศุภเดช อ่องสกุล
รองเลขาธิการสมาคมฯ และนางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม
ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุม มีวาระสำคัญได้แก่
1)สถานการณ์ราคายางและมาตรการระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาราคายาง
2)การเชิญชวนประเทศเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางฯ
3)โมเดลคาดการณ์การใช้ยางโลก 4)กองทุนเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคายางของประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางฯ
5)ความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการใช้ยาง
6)ความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรการจัดการด้านปริมาณการผลิต 7)ความคืบหน้าในการจัดตั้งตลาดยางภูมิภาค และ8)กำหนดการประชุมสภาไตรภาคียางฯ ระดับรัฐมนตรี 3 ประเทศ ในวันที่ 15 กันยายน 2560 ณ กรุงเทพฯ
โดยรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ
จากข้อมูลเบื้องต้นประมวลได้ว่าสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างประเทศผู้ผลิต
เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราและมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
|