ยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการ แรงงาน บุคลากรภาครัฐ ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน โดยปี 2555 ประเทศไทยผลิตยางได้ 3.78 ล้านตัน มีมูลค่าการส่งออกยางทั้งระบบ 647,906 ล้านบาท ซึ่งมาจากการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและยางผสมสารเคมี 3.12 ล้านตันมูลค่า 327,275 ล้านบาท ส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง 259,832 ล้านบาท และส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราอีก 60,799 ล้านบาท แหล่งปลูกยางเดิมของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเนื่องจากมีสภาพแวดล้อม เหมาะสมต่อการปลูกยาง ต่อมารัฐบาลได้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจำนวน 1 ล้านไร่ระหว่างปี 2547-2549 พบว่าต้นยางเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจและเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปี 2554 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2554 – 2556 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ดีในเขตพื้นที่เหมาะสม รวม 800,000 ไร่ แยกเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่ โดยปี 2555 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 19.27 ล้านไร่ มีเนื้อที่กรีดได้ 13.81 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ 63 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 % ภาคตะวันออกและภาคกลาง 12 % และภาคเหนือ 5 % ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ 263 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 3.74 ล้านไร่ เนื้อที่กรีดได้ 2.04 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 430,451 ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ย 211 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า จ.บึงกาฬมีเนื้อที่กรีดสูงสุด 411,778 ไร่ ให้ผลผลิตสูงสุด 93,885 ตัน รองลงมาคือ จ.อุดรธานี (209,785 ไร่ 38,181 ตัน) และจ.บุรีรัมย์ (174,654 ไร่ 35,280 ตัน) (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
จากข้อมูลเบื้องต้นประมวลได้ว่าการขยายพื้นที่ปลูกยางในภาคตะวันออก เฉียงเหนือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนายางของประเทศ เป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสภาพ แวดล้อมในภูมิภาคนี้ และเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้ สมาคมยางพาราไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้กำหนดจัดคณะประชุมสัญจรและเยี่ยมเยียนสมาชิก ณ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2556 และเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าเยี่ยมชมโรงงานยางแท่ง ขององค์การสวนยาง ในจังหวัดศรีสะเกษ และเข้าเยี่ยมเยียน พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ. สุรินทร์ นอกจากนี้คณะจะมีโอกาสทัศนศึกษา ณ เขาพระวิหาร ผามออีแดง ปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ
สมาคมฯ คาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างมวลสมาชิก รวมทั้งได้รับทราบข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ