สมาคมยางนานาชาติก่อตั้งขึ้นที่เมืองออตตาวา
ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2514
ด้วยความร่วมมือของสมาคมการค้าจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพารา มีสมาชิกทั้งหมด
21 องค์กร จาก 13 ประเทศ โดยสมาคมยางพาราไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่ม
และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วย 9 สมาคมการค้า จากประเทศผู้ผลิตยาง
4 สมาคม และประเทศผู้ใช้ยาง 5 สมาคม มีวาระการบริหารงาน 2 ปี
วัตถุประสงค์หลักของสมาคมยางนานาชาติคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านการค้ายาง การจัดทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างประเทศด้วยความเป็นธรรม
ประสานความร่วมมือด้านการผลิต การค้า
และการใช้ยางธรรมชาติระหว่างประเทศผู้ผลิตยางและประเทศผู้ใช้ยาง
และการแก้ปัญหาธุรกิจยาง รวมทั้งการพัฒนาการค้ายางอย่างเป็นธรรม สมาคมยางนานาชาติได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก
ปัจจุบันสำนักงานกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ตั้งอยู่ที่สมาคมยางพาราไทย
สมาคมยางนานาชาติมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
ทุกปี โดยในปี 2561
ได้กำหนดจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม Taj
Samudra กรุงโคลอมโบ
ประเทศศรีลังกา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) ตลาดแลกเปลี่ยนสิงคโปร์(SGX SICOM) สมาคมยางยุโรป (RTAE)
สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางญี่ปุ่น (JRMA) และสมาคมผู้ปลูกและผู้ผลิตยางเมียนมาร์
(MRPPA) ในการนี้นายสุเมธ สินเจริญกุล
ประธานสมาคมยางนานาชาติ พร้อมด้วยนายศุภเดช อ่องสกุล
เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทย
และนายประสิทธิ์ เพชรหนูเสด เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
ในโอกาสเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ
นายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ ได้กล่าวว่า ปี 2560
เป็นอีกปีที่ราคายางประสบความผันผวนรุนแรงอีกระลอกหนึ่ง จากราคา 2,000
ดอลลาร์ต่อตันในช่วงต้นปี ลดลงเหลือ 1,400-1,600 ดอลลาร์ต่อตันในช่วงปลายปี ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่ความต้องการใช้ยางไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร
กอปรกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเป้าหมายอย่างจีน และดอลลาร์สหรัฐฯ
แข็งค่า ทำให้สถานการณ์ยางพารายังคงสร้างความกังวล
ชาวสวนยางในหลายประเทศต่างประสบความยากลำบาก ในส่วนของการดำเนินงานของสมาคมยางนานาชาติ
สมาคมฯ
ได้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขสัญญาการค้ายางแท่งและประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1
มิถุนายน 2560 และจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงสัญญาน้ำยางข้น (Latex in
Drums) ด้วยเช่นกัน
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ
ได้หารือในประเด็นสำคัญคือ การจัดเตรียมตัวอย่างยางแผ่นรมควันตามมาตรฐาน Green Book อ้างอิง RSS Master Samples ปี 1968 ของสมาคมยางพาราไทย
ข้อเสนอขอแก้ไขสัญญาการค้าน้ำยางข้น (IRA Contract for Latex in Drums) และการปรับข้อความในสัญญาการค้ายางแท่ง (IRA Contract for TSR) ให้มีความสอดคล้องกัน (Streamlining) โดยที่ประชุมเสนอให้คณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคด้านสัญญาการค้า
ของสมาคมยางนานาชาติได้พิจารณาและส่งความคิดเห็นกลับมายังกองเลขาสมาคมยางนานาชาติ
เพื่อหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติครั้งต่อไป
และการเชิญสมาคมยางไอวอรี่โคสต์ (APROMAC) และสมาคมอุตสาหกรรมยางจีน(CRIA)
ร่วมเป็นสมาชิกสมาคมยางนานาชาติ
เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านการปลูกยางและการใช้ยางตามลำดับ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องตำแหน่งประธานและกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติวาระปี
2562-2563 เนื่องจากสมาคมยางพาราไทยจะครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2562 ที่ประชุมเสนอให้สมาคมยางอินโดนีเซีย(GAPKINDO)
รับตำแหน่งประธานและกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ
โดยจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติในปี 2562
ในนามสมาคมยางพาราไทย ผมขอขอบคุณนายสุเมธ สินเจริญกุล
ประธานสมาคมยางนานาชาติ และนายศุภเดช
อ่องสกุล เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ตลอดจนกองเลขานุการสมาคมยางพาราไทย
ในการบริหารจัดการองค์กรระดับนานาชาติได้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม
ผมคาดหวังว่าสมาคมยางนานาชาติจะมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมการค้ายางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป