history history
 
   
iconงานเลี้ยงประจำปี 2561 [   พฤษภาคม  2561 ]

 

สมาคมยางพาราไทย ได้กำหนดจัดงานเลี้ยงประจำปี 2561  เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และจัดการแข่งขันกอล์ฟในวันเดียวกัน ณ สนามบางกอก กอล์ฟคลับ จังหวัดปทุมธานี โอกาสนี้สมาคมฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งที่ 21 ของสภาธุรกิจยางอาเซียน ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ การจัดงานเลี้ยงประจำปีครั้งนี้มีแขกผู้สนใจ นักธุรกิจ ผู้เกี่ยวข้องในวงการยางภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า 1,000 ท่าน และได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเข้าร่วมงานและกล่าวสุนทรพจน์ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ยางพารานับว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและของโลก นับตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยได้เลื่อนฐานะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2560 ประเทศไทยผลิตยางทั้งสิ้น 4.42 ล้านตัน ส่งออก 4.09 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 280,000 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากในอุตสาหกรรมยาง ราคายางลดลงอย่างรุนแรงแตะระดับต่ำสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่กิโลกรัมละ 44.49 บาท ในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางพารา แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ฯลฯ

ส่วนการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำภายใต้กรอบความร่วมมือสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ITRC ในคราวประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ไทยได้ร่วมหารือเรื่องความร่วมมือเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาและพัฒนาอาชีพการทำสวนยางตลอดจนอุตสาหกรรมยางให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีประเด็นสำคัญคือการติดตามมาตรการชะลอการส่งออก (AETS ) ของประเทศผู้ผลิตในไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดประชุมเอกอัครราชทูต 4 ประเทศได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อหารือถึงมาตรการจัดการผลิตยางพาราดังนี้ 1.ไทยกำลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างการยางแห่งประเทศไทยกับสมาพันธ์ชาวสวนยางทั่วประเทศเพื่อรวบรวมยางแผ่นรมควัน (RSS) ยางแท่ง (Block Rubber) ยางคอมปาวด์ (Compound Rubber) และน้ำยางข้น (Concentrated latex) และจัดจำหน่าย 2.มาตรการบริหารจัดการการผลิต โดยไทยมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสมด้วยการโค่นยางเพื่อไปปลูกพืชอื่น 3.มาตรการการปลูกยางพาราร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น รณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐ เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สระน้ำ ยางปูพื้น ถนนยางพารา 4. มาตรการหยุดกรีด โดยให้พื้นที่ปลูกยางในหน่วยงานภาครัฐหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม และหยุดกรีดยางทุกไร่ โดยให้กรีดแบบวันเว้นวัน และ5. มาตรการควบคุมการผลิต-ราคายางพารา ที่ปัจจุบันยางพาราของประเทศไทยเป็นสินค้าควบคุม โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูกลไกราคายางพารา

ความร่วมมือที่เข้มแข็งและการประสานงานอย่างใกล้ชิดของประเทศต่างๆ จะนำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายหลักคือราคาที่ยุติธรรมและมีเสถียรภาพเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดกับทุกฝ่าย

การจัดงานเลี้ยงประจำปี 2561 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือร่วมใจอย่างดีเยี่ยมจากคณะกรรมการบริหารสมาชิกและทีมเจ้าหน้าที่สมาคม  ในนามสมาคมยางพาราไทย กระผมขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง และคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยางให้แน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด