history history
 
   
iconการประชุมสมัชชาสภาธุรกิจยางอาเซียนครั้งที่ 24 [   สิงหาคม  2561 ]

 

สภาธุรกิจยางอาเซียน (ASEAN Rubber Business Council) ก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ ชมรมธุรกิจยางอาเซียน (ASEAN Rubber Business Club) เมื่อปี 2535 ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งคือ สมาคมการค้ายางอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะของสมาชิกเกี่ยวกับธุรกิจยางและระบบการค้า ต่อมาในปี 2548 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาธุรกิจยางอาเซียน ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกสมาคมยาง 6 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและกัมพูชา โดยมีสำนักงานกองเลขาธิการตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย วัตถุประสงค์หลักของสภาธุรกิจยางอาเซียนคือ 1)ส่งเสริมด้านการผลิตและการค้าของประเทศสมาชิก 2)ประสานความร่วมมือด้านการค้ายางของประเทศสมาชิกและประเทศผู้ใช้ยางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านคุณภาพ และราคา 3)ประสานความร่วมมือด้านกฎเกณฑ์การซื้อขายยางและสัญญาซื้อขายยางกับสมาคมยางระหว่างประเทศ 4)ประสานความร่วมมือด้านคุณภาพ มาตรฐานยางกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 5)สนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการยางระหว่างประเทศสมาชิกและสนับสนุนข้อมูลแก่องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 6)สนับสนุนและช่วยเหลือประเทศสมาชิก แก้ไขอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการค้ายาง และ 7)ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก หรือระหว่างประเทศสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบการค้าและส่งออกยางพารา

สภาธุรกิจยางอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก โดยมีกิจกรรมการประชุมสมัชชาปีละ 2 ครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุด สมาคมยางอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสมัชชาสภาธุรกิจยางอาเซียนครั้งที่ 24 และการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งที่ 22 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเดียวกับงานเลี้ยงประจำปีสมาคมยางอินโดนีเซียซึ่งจัดในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 โดยนายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย รับหน้าที่เป็นประธานการประชุม แทนนายกสมาคมฯ และนางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุม

ในโอกาสเปิดการประชุม นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ยางว่า ความต้องการยางชะลอตัว จากยอดขายยางล้อและยานพาหนะในจีนลดลง ระหว่างที่ยอดขายในสหภาพยุโรปเติบโตดีขึ้นในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้สต็อกยางเพิ่มมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและจีน ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัว กอปรกับสงครามการค้าอย่างรุนแรงระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนราคายาง คือรัฐบาลจีนมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นความต้องการใช้ยางมากขึ้น

การประชุมสภาธุรกิจยางอาเซียนครั้งที่ 24 มีประเด็นสำคัญดังนี้ 1) สมาคมยางอินโดนีเซียยินดีรับตำแหน่งประธานและกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ในวาระปี 2562-2563 2) ข้อเสนอแก้ไขสัญญาการค้ายางแท่ง(IRA Contract for TSR) และข้อเสนอแก้ไขสัญญาการค้าน้ำยางข้น(IRA Contract for Latex in Drums) อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิค สมาคมยางนานาชาติ เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งต่อไป และ 3) ความยั่งยืนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งริเริ่มจากผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีวัตถุประสงค์คือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม คุณภาพชีวิตและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งที่ 23 และประชุมคณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจและสถิติครั้งที่ 21 โดยตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมอิสทาน่า กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงเดียวกับงานเลี้ยงประจำปีตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย

  จากข้อมูลข้างต้น ประมวลได้ว่าสภาธุรกิจยางอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างประเทศผู้ผลิต และมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยางธรรมชาติให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด