history history
 
   
iconมุมมองตลาดยางพาราของสมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียน [   ตุลาคม  2561 ]

 

สมาคมยางพาราไทย มีบทบาทสำคัญประการหนึ่งในกลุ่มสมาคมการค้าของภูมิภาคอาเซียน คือการเป็นประธานและสมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสมาคมยาง 6 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและกัมพูชา และมีกิจกรรมการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ และนายประสิทธิ์ เพชรหนูเสด เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสถิติ ของสภาธุรกิจยางอาเซียน ครั้งที่ 21 ในวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสถิติ สภาธุรกิจยางอาเซียนได้แลกเปลี่ยนมุมมองตลาดยางพาราและแนวโน้มตลาดยางพาราในระยะสั้น เพื่อให้เข้าใจปัญหาและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญดังนี้  ราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัมมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ มีสาเหตุจากผลผลิตสะสมปริมาณมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีสต็อกยางปริมาณมากในประเทศผู้ซื้อหลัก นั่นคือ ประเทศจีน สวนทางกับความต้องการยางพาราที่ปรับตัวลดลงในประเทศจีน อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราถดถอยที่ 6.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ (ลดลงจากอัตรา 6.9 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน) และ 6.4 ในปีหน้า  ท่ามกลางภาวะความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงชะลอการซื้อและรอดูสถานการณ์ต่างๆ จนกว่าจะตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ราคายางยังได้รับผลกระทบจากการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อและปัญหาด้านค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำมากนัก ปัจจัยแรกคือการที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่มีการผลิตและส่งออกยางพาราในอัตราเติบโตลดลง โดยสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเปิดเผยว่า ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าปริมาณการใช้ที่เติบโต 5.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนยาง 786,000 ตัน มีสาเหตุจากปัจจัยด้านราคายางตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรกรีดยางลดลง กอปรกับสภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต หากสถานการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ คาดว่าราคายางจะปรับตัวดีขึ้น  ปัจจัยที่สองคือความต้องการยางพาราในจีนและอินเดียยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ยางล้อ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ  จะเห็นได้ว่า กลไกราคายางพารานั้นขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญในการพยุงราคายาง ทั้งการควบคุมปริมาณการผลิตตามความเหมาะสม การเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นผลิตภัณฑ์ยาง

สุดท้ายนี้ สมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียนยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อตลาดยางพารา ถึงแม้ราคายางพาราจะผันผวนไปตามกลไกของตลาดโลก หากมีการศึกษาและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถรับมือและปรับเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด