history history
 
   
iconความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย [   กุมภาพันธ์  2562 ]

 

ปัจจุบันสถานการณ์ยางพารามีแนวโน้มชะลอตัวในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กอปรกับมีสต็อกยางสะสมในปริมาณมาก สวนทางกับความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกที่เติบโตในอัตราชะลอตัว เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีนโยบายรัดเข็มขัด ทำให้การลงทุนรวมทั้งการซื้อยานพาหนะลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง ตามแรงอุปสงค์ที่แผ่วลง โดยเฉพาะจากประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ยางพาราไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งจากสถานการณ์ราคายางตกต่ำดังกล่าว สภาไตรภาคียางระหว่างประเทศได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทาง 5 ข้อในการแก้ไขปัญหาราคายาง คือ 1) มาตรการจำกัดการส่งออกของ 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) รวมจำนวน 200,000-300,000 ตัน 2) เพิ่มปริมาณการใช้ยางใน 3 ประเทศ 3) ลดพื้นที่การปลูกยาง เพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนใน 3 ประเทศ 4) จัดตั้งตลาดยางภูมิภาค เพื่อซื้อขายยางในตลาดซื้อขายจริง และ 5) จัดตั้งสภายางแห่งอาเซียน (ASEAN Rubber Council)

สมาคมยางพาราไทยสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ (Demand Promotion Scheme) ส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้มากขึ้นจากการใช้ยางปัจจุบันที่ 14 %  โดยภาครัฐควรส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางอย่างจริงจัง และการควบคุมปริมาณการผลิต (Supply Management Scheme) โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีความโปร่งใสเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนมาตรการจำกัดการส่งออก สมาคมฯ เห็นว่าควรทบทวนการดำเนินการอย่างรอบคอบ เนื่องจากมาตรการจำกัดการส่งออกจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทย และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจไทย เป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และลดความเชื่อมั่นของคู่ค้า ทำให้คู่ค้าหันไปซื้อประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ยังส่งผลให้สต็อกยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกร สมาคมฯ เห็นว่ามาตรการจำกัดการส่งออกไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและไม่เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน

โดยสรุป ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งด้านยางพาราระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคายาง และมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา โดยมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางจะมีประสิทธิภาพสูงสุด หากมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน


Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด