history history
 
   
iconบทบาทไทยในสมาคมยางนานาชาติ [   เมษายน  2562 ]

 

สมาคมยางนานาชาติก่อตั้งขึ้นจากการประชุมที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2514 ด้วยความร่วมมือของสมาคมการค้าจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพารา มีสมาชิกทั้งหมด 20 องค์กร จาก 13 ประเทศ โดยสมาคมยางพาราไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่ม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วย 8 สมาคมการค้า จากประเทศผู้ผลิตยาง 4 สมาคม และประเทศผู้ใช้ยาง 4 สมาคม มีวาระการบริหารงาน 2 ปี วัตถุประสงค์หลักของสมาคมยางนานาชาติคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านการค้ายาง การจัดทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างประเทศด้วยความเป็นธรรม ประสานความร่วมมือด้านการผลิต การค้า และการใช้ยางธรรมชาติระหว่างประเทศผู้ผลิตยางและประเทศผู้ใช้ยาง และการแก้ปัญหาธุรกิจยาง รวมทั้งการพัฒนาการค้ายางอย่างเป็นธรรม  สมาคมยางนานาชาติได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก ปัจจุบันสำนักงานกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ตั้งอยู่ที่สมาคมยางอินโดนีเซีย

สมาคมยางนานาชาติมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ทุกปี และประชุมใหญ่สามัญประจำทุก 2 ปี โดยในปี 2562 ได้กำหนดจัดประชุมคณะกรรมการบริหารและประชุมใหญ่สามัญสมาคมฯ ในวันที่ 17 มีนาคม 2562 ณ โรงแรม Marina Mandarin ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) สมาคมยางอินโดนีเซีย (Gapkindo) ตลาดแลกเปลี่ยนสิงคโปร์ (SGX SICOM) สมาคมยางสิงคโปร์ (RTAS) สมาคมยางแห่งหอการค้านานาชาติสิงคโปร์ (SICCRA) สมาคมผู้ปลูกและผู้ผลิตยางเมียนมาร์ (MRPPA) สมาคมยางยุโรป (RTAE) สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางญี่ปุ่น (JRMA) และสมาคมยางเยอรมนี (WdK) ในส่วนของสมาคมยางพาราไทย นายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ พร้อมด้วยนายศุภเดช อ่องสกุล เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ นายชำนาญ นพคุณขจร อุปนายกสมาคมยางพาราไทย นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ และนายประสิทธิ์ เพชรหนูเสด เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

ในโอกาสเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ นายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ ได้กล่าวว่า ปี 2561 เป็นอีกปีที่ราคายางประสบความผันผวนรุนแรงอีกระลอกหนึ่ง มีสาเหตุจากยางไม่ได้คุณภาพหรือยางก้อนถ้วยจากนอกกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก (ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) ออกสู่ตลาดปริมาณมาก นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติด้านอุปสงค์-อุปทานในปี 2561 ไม่ปรากฏว่ามีอุปทานส่วนเกินที่น่าเป็นห่วง จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุของราคายางตกต่ำ โดยข้อเท็จจริงแล้วราคายางอาจถูกกำหนดโดยปัจจัยอื่น เช่น การเก็งกำไรขึ้นลงซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุปสงค์-อุปทาน

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ได้หารือในประเด็นสำคัญคือ การปรับปรุงเนื้อหาในสัญญาการค้ายางแท่ง (IRA Contract for TSR) ให้มีความสอดคล้องกัน (Streamlining) โดยที่ประชุมได้รับรองสัญญาการค้ายางแท่งฉบับใหม่และจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาแก้ไขสัญญาการค้าน้ำยางข้น (IRA Contract for Latex in Drums) ให้เป็นปัจจุบันมากขึ้นในลำดับต่อไป หลังจากนั้น มีการประชุมใหญ่สามัญประจำสองปี ที่ประชุมได้มีการเลือกตั้งประธานและรองประธานสมาคมยางนานาชาติ เนื่องจากสมาคมยางพาราไทยได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว  โดยสมาคมยางอินโดนีเซีย (GAPKINDO) ยินดีรับตำแหน่งประธานและกองเลขานุการ  ส่วนสมาคมยางยุโรปรับตำแหน่งรองประธานสมาคมยางนานาชาติ

ในนามสมาคมยางพาราไทย ผมขอขอบคุณนายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ  และนายศุภเดช อ่องสกุล เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ตลอดจนกองเลขานุการสมาคมยางพาราไทย  ในการบริหารจัดการองค์กรระดับนานาชาติได้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมมาตลอด 6 ปี  ผมคาดหวังว่าสมาคมยางนานาชาติจะมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมการค้ายางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด