สมาคมยางพาราไทย ได้จัดงานเลี้ยงประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ณ
โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โอกาสนี้สมาคมฯ
ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งที่ 25
และประชุมสมัชชาสภาธุรกิจยางอาเซียนครั้งที่ 25 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ณ
โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
การจัดงานเลี้ยงประจำปีครั้งนี้มีแขกผู้สนใจ นักธุรกิจ
ผู้เกี่ยวข้องในวงการยางภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า
800 ท่าน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(ประเทศไทย) ตลาดล่วงหน้าโตเกียว ตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ สมาคมการค้ายางจากประเทศสมาชิกอาเซียนและอื่นๆ ซึ่งกระผมได้รับเกียรติในการกล่าวเปิดงาน
โดยนำเสนอประเด็นสำคัญดังนี้ ปี 2561
ยังคงเป็นปีที่ท้าทายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยาง
การที่ราคายางตกต่ำและมีความผันผวนอย่างมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางในทุกภูมิภาคของโลก
และผู้ใช้ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ไม่ได้รับประโยชน์มากนักในระยะยาว ดังนั้นทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยางทั้งเกษตรกร
ผู้แปรรูป ผู้ค้า และผู้ใช้ยางมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการจัดการผลผลิต
และการใช้ยางให้ได้ระดับสมดุล ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยนำไปสู่ราคาที่เหมาะสมได้
โดยสมาคมยางพาราไทยสนับสนุนการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้มากขึ้น
และการลดพื้นที่ปลูกยาง
ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน
สำหรับการประชุมคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคเรื่องสัญญาการค้าครั้งที่
25 และการประชุมสมัชชาสภาธุรกิจยางอาเซียนครั้งที่ 25 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562
กระผมได้มอบหมายนายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย
รับหน้าที่เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยนายศุภเดช อ่องสกุล
รองเลขาธิการสมาคมฯ นายเดชา มีสวน อุปนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม
ผู้จัดการสมาคมฯ และเจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมประชุม โดยนายบัณฑิต
เกิดวงศ์บัณฑิต เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย
กล่าวว่า สมาคมยางพาราไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจยางอาเซียนอีก
1 สมัย ประจำปี 2562-2563
และขอขอบคุณสมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียนสำหรับความไว้วางใจในการเป็นผู้นำองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศผู้ผลิต
ตั้งแต่ปี 2548
สภาธุรกิจยางอาเซียนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการปกป้องประโยชน์ทางการค้าของประเทศสมาชิก
ได้แก่การปรับปรุงแก้ไขสัญญาการค้าต่างๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าและสถิติ
การเพิ่มแหล่งข้อมูลอ้างอิงทางสถิติซึ่งมีความแม่นยำ เชื่อถือได้
และการเผยแพร่ข้อมูลราคายางรายวันของประเทศสมาชิก
นอกจากนี้สภาธุรกิจยางอาเซียนยังให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนของยางธรรมชาติ
(SDNR)
การจัดงานเลี้ยงประจำปี
2562 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือร่วมใจอย่างดีเยี่ยมจากคณะกรรมการบริหาร
สมาชิกและทีมเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ในนามสมาคมยางพาราไทย
กระผมขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงและคาดหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ผลิต
ผู้ใช้ยาง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในวงการยางให้แน่น
แฟ้นยิ่งๆ
ขึ้นไป