history history
 
   
iconความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย [   กรกฏาคม  2562 ]

 

อินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2561 มาเลเซียเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นลำดับที่ 1 ในอาเซียน รองลงมาคือเวียดนาม และอินโดนีเซียตามลำดับ การค้าระหว่างไทยและมาเลเซียมีมูลค่ารวม 24,885 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับมาเลเซียมูลค่า 1,595 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซียมีมูลค่ารวม 18,202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับอินโดนีเซียมูลค่า 2,295 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) คาดการณ์ว่า GDP ของอินโดนีเซียจะขยายตัวกว่าร้อยละ 5 ในปี 2562-2563 ทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศในตลาดอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้าจากไทย

ในปี 2535 ประเทศมาเลเซียได้เสนอแนวทางพัฒนาความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle)  ต่อมาในปี 2536 ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศ ได้เห็นชอบในหลักการ และร่วมกันร่างข้อเสนอจัดตั้งกรอบความร่วมมือนี้ โดยเป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างพื้นที่บางส่วนของทั้ง 3 ประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันหรือใกล้เคียง และในปี 2560 คณะรัฐมนตรีไทยได้ให้การรับรองวิสัยทัศน์ระยะ 20 ปี ของแผนงาน IMT-GT (IMT-GT Vision 2036) และแผนดำเนินงานระยะห้าปีฉบับใหม่แผนที่ 3 ปี 2560-2564 ซึ่งจะนำไปสู่การบูรณาการ การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และการเติบโตอย่างยั่งยืนภายในปี 2579  ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย มีการกำหนดสาขาการพัฒนา 7 ด้าน โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักได้แก่ 1. กลุ่มการพัฒนานำ ได้แก่ เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 2. กลุ่มปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศ/การสื่อสาร การค้าและการลงทุน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรนอกจากจะเป็นสาขาที่สำคัญในกรอบ IMT-GT แล้ว ยังเป็นส่วนหลักในการสร้างรายได้และความเติบโตให้กับประเทศ โดยปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคใต้ภายใต้กรอบ IMT-GT

IMT-GT มีกิจกรรมการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงาน NCIA (Northern Corridor Implementation Authority) ของประเทศมาเลเซียร่วมกับศูนย์ประสานงานความร่วมมือแผนงานอนุภาค IMT-GT (CIMT) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาเมืองยางในกลุ่มประเทศสมาชิก IMT-GT เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรม The Everly เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย โดย IMT-GT ได้ให้เกียรติเชิญนายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อความร่วมมือจากภาคธุรกิจภายใต้กรอบ IMT-GT โดยมีนางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุม มีประเด็นหารือสำคัญคือ การสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มประเทศสมาชิก IMT-GT

การประชุมครั้งล่าสุด คือการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำประเทศเข้าร่วมการประชุมสำคัญได้แก่ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และ ตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมด้วยรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของสามประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทย ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนและ นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย  โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. การประเมินผลความก้าวหน้าของแผนงาน IMT-GT บนพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง 2. การพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสอดรับกับทิศทางนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน 3. การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ประมงแปรรูป และผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยมุ่งเน้นให้เกิดการวิจัย พัฒนา และใช้นวัตกรรมร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อสร้างอุปสงค์ต่อผลผลิตทางการเกษตรในอนุภูมิภาคทั้งในขั้นตอนการแปรรูปต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวและสร้างงานเพิ่มขึ้น เป็นผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 4. การต่อยอดการพัฒนาเมืองสีเขียวสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในหลายมิติ โดยเร่งรัดการดำเนินการให้เร็วกว่าเป้าหมายและหยิบยกประเด็นความร่วมมือในเรื่องที่เร่งด่วน 5. การเสริมสร้างบทบาทของมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF) ในการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) สภาธุรกิจ IMT-GT และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน แผนงาน IMT-GT

จากข้อมูลดังกล่าว ประมวลได้ว่าความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย มีความสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับโลก สมาคมฯ คาดหวังว่าความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย  จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ให้กับประเทศไทยโดยภาพรวม

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด