บทบาทสำคัญประการหนึ่งของสมาคมยางพาราไทย
คือการเข้าร่วมการประชุมวิชาการในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อนำความรู้ทางวิชาการตลอดจนข้อมูลข่าวสารด้านยางพาราที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน
เผยแพร่แก่สมาชิก ซึ่งในปี 2562
คณะกรรมการบริหารสมาคมยางพาราไทย ได้มอบหมายให้นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม
ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมวิชาการสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ
ภายใต้หัวข้อการปรับตัวและแนวทางสู่ความยั่งยืน(Adaptive and Inclusive
Path to Sustainable Value Chain) และร่วมประชุมหารือระหว่างผู้แทนภาครัฐและเอกชน
เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมยาง ณ โรงแรม Tentrem เมืองยอร์คยาการ์ต้า
ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2562
ในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก
Dr.
Enggartiasto Lukita รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ประเทศอินโดนีเซีย
ในการกล่าวเปิดการประชุม โดยท่านกล่าวภาพรวมอุตสาหกรรมยางอินโดนีเซีย
มีเกษตรกรชาวสวนยาง 2.5 ล้านคน พื้นที่ปลูกยาง 22.5 ล้านไร่ ผลิตยาง 3.6 ล้านตัน ส่งออกยางธรรมชาติ 2.95 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.16 ล้านเหรียญสหรัฐ
และใช้ยางในประเทศ 633,785 ตัน โดยใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อกว่า
40 % ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมถุงมือ และพื้นรองเท้า เป็นต้น
อินโดนีเซียมีแผนระดับชาติในการเพิ่มการใช้ยางในหลายสินค้า อาทิเช่น ถนนยาง
และยางรองคอสะพาน และท่านได้ให้ข้อมูลปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่จากปัญหาเชื้อรา
Pestalotiopsis ในพื้นที่กว่า 380,000 เฮกตาร์
(2.375 ล้านไร่) ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตยางลดลงกว่า 15 % ประมาณ 540,000 ตัน นอกจากนี้ท่านให้ข้อมูลว่าความยั่งยืนประกอบด้วย 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
โดยต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานและระดับราคาที่เหมาะสม
หลังจากนั้นมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายหัวข้อดังนี้ 1) บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการสร้างความยั่งยืนของยางธรรมชาติ
โดยMr. Stefano Savi ผู้อำนวยการ Global Platform for
Sustainable NR 2) ความยั่งยืนยางธรรมชาติ
บทเรียนจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยศาสตราจารย์ Dato Dr. Ahmad Bin
Ibrahim จากมหาวิทยาลัย USCI กัวลาลัมเปอร์ 3)
ความท้าทายในการปรับเข้าสู่มาตรฐานความยั่งยืน โดยดร.อรอนงค์
ล่วนรักษ์ 4) เศรษฐศาสตร์ของสายโซ่ความยั่งยืนในมุมมองของประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ
โดยMr. Jom Jacob จากสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ 5)
แนวทางปฏิบัติเพื่อนำเกษตรกรรายย่อยสู่ความยั่งยืน โดยMr.
Michal Brink จาก CMO Group และ6)การอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ
เรื่องนโยบายของประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติในการจัดการความท้าทายในการสร้างความยั่งยืน
ส่วนในการประชุมหารือระหว่างผู้แทนภาครัฐและเอกชน
ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย
โดยประเด็นสำคัญคือควรมีเวทีระดับนานาชาติจากประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเพื่อหารือเรื่องความยั่งยืนของยางธรรมชาติ
สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
สร้างมาตรฐานเรื่องความยั่งยืนที่เกษตรกรยอมรับและปฏิบัติได้
และควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพวัตถุดิบและราคาที่เป็นธรรม
เนื่องจากราคายางตกต่ำจะส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางละทิ้งสวนยางและเข้าสู่อาชีพแรงงาน
ซึ่งผู้ใช้ยางควรตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องระดับราคาที่เกษตรกรจะสามารถอยู่รอดได้ในบริบทของความยั่งยืน
กิจกรรมดังกล่าว
ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีส่วนสร้างความรู้
ความเข้าใจข้อมูลข่าวสารด้านยางพาราที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน
แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกสู่ความยั่งยืน