ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2563 คาดว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีนี้เล็กน้อย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2563 โดยไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสำคัญ เช่น การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ที่ต้องการความชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบด้านการส่งออกของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องติดตามข่าวสารและปรับตัวอย่างรวดเร็ว
สถานการณ์ยางพาราปี 2563 คาดว่ามีแนวโน้มชะลอตัวในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น และยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านผลผลิตและความต้องการใช้ยางธรรมชาติ เช่น ปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงจากเชื้อราในวงกว้าง โดยอินโดนีเซียได้รับผลกระทบ 2.38 ล้านไร่ ไทย 325,000 ไร่ และมาเลเซีย 31,250 ไร่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจะทำให้ผลผลิตลดลง 70-90 % ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบปานกลางจะทำให้ผลผลิตลดลง 30-50 % ประเทศสมาชิก ITRC คาดว่าผลผลิตในปี 2563 จะลดลงกว่า 800,000 ตัน เนื่องจากปัจจัยดังกล่าว ทางด้าน The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติของโลกจะเติบโตในอัตราชะลอตัวที่ 1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562-2563 เนื่องจากมีสต็อกยางสะสมในปริมาณมาก และราคายางไม่จูงใจต่อการผลิต ส่วนความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกจะเติบโตในอัตราชะลอตัวเช่นกัน ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562-2563 ลดลงจากระดับ 4.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 เนื่องจากความต้องการซื้อยานพาหนะลดลง กอปรกับอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันมีความผันผวน
อย่างไรก็ตาม สมาคมยางพาราไทย มีความเห็นเชิงบวกว่ายางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีความร่วมมืออันเข้มแข็งของกลุ่มประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของยางพารา โดยราคายางต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อจูงใจให้เกษตรกรยังคงอยู่ในอาชีพ ในขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้ยางด้วย โดยมีมาตรการสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ 1) มาตรการจัดการด้านปริมาณการผลิต (Supply Management Scheme : SMS) 2) มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออก (Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) และ 3) มาตรการส่งเสริมการใช้ยาง (Demand Promotion Scheme : DPSC) นอกจากนี้ภาครัฐไทยได้มีมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ร่วมกับการปลูกยางพารา และส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยสรุป สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมืออันเข้มแข็งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตลอดจนประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนต่อไป
ในโอกาสศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2563 ผมขอส่งความปรารถนาดี และขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ และความเจริญในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย