สถานการณ์โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ในประเทศผู้ปลูกยาง พบการระบาดครั้งแรกในปี 2559 ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา และไทย โดยอินโดนีเซียมีพื้นที่สวนยางได้รับความเสียหายจากโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ 2.43 ล้านไร่ ไทย 765,813 ไร่ และมาเลเซีย 62,500 ไร่ คาดว่าจะทำให้ผลผลิตในประเทศอินโดนีเซีย ปี 2562 ลดลง 329,000 ตัน และผลผลิตในประเทศไทยปี 2562 ลดลง 121,000 ตัน (ที่มา:สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ) ซึ่งไทยมีรายงานการระบาดครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ปลูกยาง 9 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ตรัง พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ และสตูล โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อยางพาราทำให้ผลผลิตลดลงจนกระทั่งไม่มีผลผลิต ทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้งและกิ่งแห้งได้ สภาพการระบาดของโรคในช่วงแรกจะพบในพื้นที่บริเวณที่สูงบนภูเขา บริเวณที่มีความชื้นสูงในระยะใบแก่ สภาพที่มีฝนตกสลับกับสภาพแล้ง ทำให้เกิดโรครุนแรงและการแพร่ระบาดของโรคเร็วขึ้น พันธุ์ยางทุกพันธุ์อ่อนแอต่อโรค และสิ่งที่น่ากังวลคือโรคแพร่กระจายได้ทางอากาศทั้งลม ฝน การเคลื่อนย้ายวัสดุปลูก ท่อนพันธุ์ และปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดโรครุนแรงคือสภาพต้นยางที่อ่อนแอจากการขาดการบำรุงรักษาที่ดีและใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอ เนื่องจากราคายางตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีรายได้เพียงพอในการดูแลจัดการต้นยาง นอกจากนี้พบว่าโรคจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงไปยังวัชพืชในสวนยาง หรือพืชอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และใบเลี้ยงคู่ ทำให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน (ที่มา: การยางแห่งประเทศไทย)
จากสถานการณ์โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ทำให้สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC) จัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชอย่างเร่งด่วน ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2563 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยที่ประชุมได้มีการรายงานภาพรวมสถานการณ์การระบาดของโรค และมีความเห็นว่าควรมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช เพื่อวิจัยและระบุถึงเชื้อสาเหตุโรคที่แน่ชัด และการควบคุมจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และควรมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคนี้ต่อสาธารณชน เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักแก่นานาประเทศ ทั้งพื้นที่ระบาดและพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาดของโรค นอกจากนี้ควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคยางว่าโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนยางธรรมชาติในอนาคต เพื่อการต่อรองด้านราคายางที่เหมาะสมแก่เกษตรกร ส่วนประเทศไทย รัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อจำกัดการระบาดของโรค รวมทั้งการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ และค้นหาพันธุ์ยางที่ต้านทานโรคอย่างเร่งด่วน เพราะโรคมีการแพร่กระจายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตยาง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดวิกฤตทางอุตสาหกรรมยางไทยและยางโลกในอนาคต
สมาคมยางพาราไทยเล็งเห็นถึงปัญหาการระบาดและความรุนแรงของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ และความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างประเทศผู้ปลูกยางพารา และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวสวนยางและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยาง
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย