ตั้งแต่ปลายปี 2019
เป็นต้นมา มีวิกฤตการณ์สำคัญเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นควันไฟป่าในออสเตรเลีย
ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก วิกฤตฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายเมืองทั่วโลก
และสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน
จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็น
"การระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic)" แม้มีข่าวดีจากจีนที่สถานการณ์เริ่มทรงตัว
แต่การแพร่ระบาดในประเทศอื่นนอกจีนกลับขยายไปมากกว่า 60 ประเทศ โดยข้อมูล ณ 9 เม.ย.
63 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 1.5 ล้านราย เสียชีวิต 88,502 ราย
สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 2,369 ราย เสียชีวิต 30 ราย (EOC-DDC
Thailand ณ วันที่ 8 เม.ย. 63 เวลา 23.00 น.)
ประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับแรกมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันสูงถึงกว่า 2
ใน 5 ของโลก ซึ่งทำให้ทั่วโลกมีความวิตกกังวลจากการระบาดนี้
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สังคมและเศรษฐกิจโลก ทั้งภาคธุรกิจ
การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆ ในวงกว้าง หากไม่มีการดูแลจัดการ
และการควบคุมที่ดีได้โดยเร็ว
การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า
2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้ยางโลก
โดยส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานและการหยุดชะงักของตลาด การชะลอการส่งมอบและแผนการผลิต
รวมทั้งการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของผู้ประกอบการ
โดยสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติคาดการณ์ว่าผลผลิตยางธรรมชาติโลกปี 2020 จะเพิ่มขึ้น
2.7 % เป็น 14.18 ล้านตัน ส่วนความต้องการใช้ยางโลกปี 2020 จะเพิ่มขึ้น 1.2 % เป็น
13.82 ล้านตัน จากการหยุดการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศจีนในช่วง 2
เดือนแรกของปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)
สมาคมยางพาราไทยตระหนักถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพาราจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า
2019 (COVID-19) อีกทั้งอุตสาหกรรมยางยังได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศแห้งแล้งด้วย โดยประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศจีน
มาเลเซีย สหรัฐฯ
และญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
ดังนั้นการที่ตลาดซบเซายาวนาน
รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดด่านนำเข้าและส่งออกของประเทศมาเลเซีย
ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563
จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพาราของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สมาคมยางพาราไทยได้เร่งดำเนินการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ
เอกชน ทั้งไทยและมาเลเซีย รวมทั้งเข้าพบท่านกงสุลมาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา
เพื่อขอให้ทางรัฐบาลไทยและมาเลเซียอนุญาตเปิดด่านเข้าออกเพื่อขนส่งสินค้าเป็นปกติ นอกจากนี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ยางพาราจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรค
COVID-19 โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการยาง
รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านยางพาราจากสถานการณ์ดังกล่าว
สามารถติดต่อแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์และปัญหากับศูนย์ดังกล่าวโดยตรง
สุดท้ายนี้ กระผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้
โดยเฉพาะทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข
และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ด้วย
และขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ แล้วเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย