ยางพารา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการแรงงาน บุคลากรภาครัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ประมาณ 1 ล้านครอบครัว จำนวนไม่น้อยกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ ก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศจากการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางอันดับ 1 ของโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา โดยปี 2563 ไทยผลิตยาง 4.24 ล้านตัน ส่งออก 3.79 ล้านตัน(ร้อยละ 89 ของผลผลิตทั้งหมด) และใช้ในประเทศ 687,000 ตัน(ร้อยละ 16 ของผลผลิตทั้งหมด) ไทยพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ จีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในรูปวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้น โดยปี 2563 ไทยส่งออกยางผสมร้อยละ 40.60 รองลงมาคือยางแท่งเอสทีอาร์ร้อยละ 28.87 น้ำยางข้นร้อยละ 17.80 และยางแผ่นรมควันร้อยละ 10.02 ตามลำดับ ที่เหลือส่งออกยางชนิดอื่นๆ ร้อยละ 2.72 (ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย)
สาระสำคัญในยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน และมีคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี จำนวน 5 คณะดังนี้ 1. คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธาน 2.คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน มีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธาน 3.คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน มีผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นประธาน 4.คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราด้านการพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย มีผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยเป็นประธาน และ 5. คณะทำงานกลั่นกรองยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี มีผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยเป็นประธาน โดยนายกสมาคมยางพาราไทยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี และร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราด้านการพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย ส่วนตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ในปี 76-80 มี 5 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1. พื้นที่ปลูกยางพารา 18.4 ล้านไร่ 2. ปริมาณผลผลิตยาง 360 กิโลกรัม/ไร่/ปี 3. สัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศร้อยละ 35 4. มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา 800,000 ล้านบาท และ5. รายได้จากการทำสวนยาง 19,800 บาท/ไร่/ปี โดยจะมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแต่ละยุทธศาสตร์จำนวน 21 ตัวชี้วัด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผลการขับเคลื่อนบางยุทธศาสตร์ห่างจากเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก เนื่องจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
สมาคมยางพาราไทย คาดหวังว่าการบูรณาการความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรชาวสวนยาง จะส่งผลให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี บรรลุเป้าหมาย เพื่อการพัฒนายางพาราไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย