history history
 
   
iconความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) [   ตุลาคม  2564 ]

 

ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไทย มีความเห็นชอบร่วมกัน และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการให้ภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เป็นผู้นำทางการค้าและการลงทุน ในการนำไปสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภาษา โดยรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสนับสนุนในภาครัฐให้จัดสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลักดันให้ IMT-GT เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดกรอบความร่วมมือทั้งสิ้น 6 ด้าน คือ (1)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Development) หรือสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) (2)การค้าและการพัฒนาจุดแรกเริ่ม (Trade and In-situ Development)  (3)การดำเนินการเรื่องการตลาดเสรี และเขตโทรคมนาคมพิเศษ (Open Market Operations) (4)การพัฒนารายสาขา เน้นด้านการท่องเที่ยว (Sectoral Development as in Tourism Development)  (5)การพัฒนารายสาขา เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Cross-Sectoral such as Human Resource Development) และ (6)การพัฒนาพื้นที่นอกเขตเมืองและการค้าภายในพื้นที่ (Development of the Hinterlands and Intra-Trade (ที่มา : ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

IMT-GT มีกิจกรรมการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภายใต้แผนงาน IMT-GT (IMT-GT Rubber Cities and Rubber Industry Cooperation Workshop) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย โอกาสนี้ IMT-GT ได้ให้เกียรติเชิญนายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาเมืองยางพารา รวมถึงเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์และพัฒนาความร่วมมือในกลุ่ม IMT-GT โดยสรุปประเด็นสำคัญจากการประชุม 2 ประเด็น
ประเด็นแรก วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในเมืองยางพาราของ IMT-GT  มีความท้าทายหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพารา เช่น การเพิ่มขึ้นของการนโยบายปกป้องทางการค้าหรือการกีดกันทางการค้า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ยังสามารถดึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยางพาราในการผลิตถุงมือยางอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมยางของประเทศอินโดนิเซีย ต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบที่มีจำกัด ปัญหาด้านการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพระหว่างความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค และนิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่ค่อนข้างด้อยพัฒนา ในทางกลับกันเมืองยางพาราของประเทศมาเลเซีย (Kedah Rubber City) และประเทศไทย (Songkhla Rubber City) ค่อนข้างพัฒนามากกว่า โดยมีการอำนวยความสะดวกในหลายด้านเพื่อดึงดูดนักลงทุน การอภิปรายยังสรุปได้ว่าความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านยางพาราภายใต้กรอบความร่วมมือ IMT-GT จะสามารถเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและเครือข่าย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยางพาราของทั้งสามประเทศ

ประเด็นที่สอง การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราระดับอนุภูมิภาคเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแบบพลวัต  โดยผลิตภัณฑ์ยางแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นไปที่ชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิตต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ตลาดยางพาราได้แสดงศักยภาพในภาคผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เช่น  ส่วนประกอบยางในยานอวกาศ (rocket component) ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน (ส่วนประกอบของเตา DME และท่อยาง) และยางมะตอย นอกจากนี้อุตสาหกรรมยางพารายังสามารถกำหนดเป้าหมายความต้องการผลิตภัณฑ์ยางสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์และการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสแก่ผู้ผลิตยางพาราใน IMT-GT ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดโลก โดยการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Green Rubber)

ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการฯ ได้สรุปแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญดังนี้ 1)การจัดตั้งกิจกรรมในการทดสอบผลิตภัณฑ์  ศูนย์วิจัยและพัฒนา  นวัตกรรมและเทคโนโลยี 2)ความร่วมมือของทั้งสามประเทศในการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Accreditation) และระบบบริหารจัดการการออกเอกสารรับรอง (Certification) 3) ความร่วมมือของทั้งสามประเทศในการฝึกอบรมและการพัฒนาศักยภาพบุคคลสำหรับโครงการเมืองยางพารา และ4)ความร่วมมือของทั้งสามประเทศในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของโครงการเมืองยางพารา

จากข้อมูลดังกล่าว ประมวลได้ว่าความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิฤตจากโรคโควิด 19 และสงครามการค้า  IMT-GT ควรมีแผนดำเนินการที่เหมาะสมและชัดเจน เพื่อปกป้องผลประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง  สมาคมฯ คาดหวังว่าความร่วมมืออย่างเข้มแข็งภายใต้กรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย  จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์แก่ประเทศไทยโดยภาพรวม


นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด