ยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลภาพรวมยางพาราไทย ปี 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีด 21.93 ล้านไร่ ผลผลิต 5.17 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 925,808 ตัน และส่งออก 4.18 ล้านตัน (ที่มา : กองการยาง กรมวิชาการเกษตร) แหล่งปลูกยางและโรงงานแปรรูปยางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งปลูกยางอันดับสามของประเทศ มีพื้นที่กรีดและผลผลิตประมาณร้อยละ 8 ของประเทศ และเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปยางจำนวนมาก นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเสนอก่อตั้ง Rubber Valley เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราอย่างครบวงจร โดยใช้พื้นที่ 41,000 ไร่ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้การกำกับดูแลของการยางแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในพื้นที่อาเซียน ในด้านแหล่งข้อมูล การเรียนรู้ การผลิต แปรรูป ส่งออก เต็มรูปแบบ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัย นวัตกรรมเฉพาะด้านยางพาราแก่ผู้ที่สนใจศึกษาดูงานด้านยางพาราได้อย่างครบวงจร
ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงาน“มหกรรมยางพารา 2564 นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช โดยกิจกรรมในงานได้แก่ การนำเสนอนิทรรศการความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมยางพารา และวิถีชีวิตชาวสวนยางพาราแบบครบวงจร มีการแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โซนนิทรรศการ นครฯ เมืองแห่งยางพารา โซนนิทรรศการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี โซนนวัตกรรมยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยางพารา การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) พร้อมเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Rubber Way ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสการแข่งขันทางการค้าสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงแอพฯ Rubbee ที่รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับยางพารา และอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทั้งราคาซื้อขาย ข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ สิทธิประโยชน์ และโปรโมชันต่างๆ ที่สมาชิกจะได้รับ ซึ่งทั้ง 2 แอพฯ ของ กยท. เกิดขึ้นเพื่อรองรับวิถีชีวิตชาวสวนยางยุคดิจิทัล ให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำคัญในงานคือการประชุมทางวิชาการด้านนวัตกรรมยางพารา โอกาสนี้ คุณศุภเดช อ่องสกุล ได้รับเกียรติเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “นวัตกรรมยางพารา และอนาคตยางพาราไทย” ในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2565
“มหกรรมยางพารา 2564 นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ถือเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มของยางพารา และเพิ่มรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยางพาราของประเทศ สมาคมยางพาราไทยยินดีสนับสนุนการจัดงานมหกรรมยางพาราฯ และขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงานตามสถานที่และเวลาดังกล่าว ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดที่การยางแห่งประเทศไทย
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย