history history
 
   
iconการบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป [   มิถุนายน  2565 ]

 

สมาคมยางพาราไทย ได้ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(CBAM) ของสหภาพยุโรป  ทราบว่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รัฐสภายุโรปได้อนุมัติร่างกฎหมาย CBAM ตามที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯ เสนอ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564  

รายงานข่าวแจ้งว่า กฎหมาย CBAM  ขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุม โดยเพิ่ม Organic Chemical, Plastic Polymer, Hydrogen, ammonia จากเดิม 5 สินค้า - ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า และขยายขอบเขตการปล่อยคาร์บอนโดยครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emissions) ด้วย เช่น การใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ใน 9 รายการสินค้าข้างต้น จากเดิมครอบคลุมเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรง (Direct Emission)  โดยจัดตั้งหน่วยงานดูแลระบบ CBAM หรือ CBAM Authority แทนที่การทำงานของ 27 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และเริ่มต้น transitional period สำหรับทดสอบการรายงานข้อมูลในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2569   และบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่  1 มกราคม 2570 ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้า 9 รายการข้างต้นจะได้รับใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (Free Allowance) ในสัดส่วนเดียวกับผู้ประกอบการภายในสหภาพยุโรปได้รับภายใต้ระบบ EU-ETS เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าตามกฎการค้าของ WTO ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ Free Allowance ที่ให้กับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปจะลดลงตามระดับจนเป็นศูนย์ในปี 2577 

นอกจากกฎหมาย CBAM แล้วสหภาพยุโรป ได้ตระหนักในความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Loss of Biodiversity)การทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และพยายามที่่จะออกกฎหมายสนับสนุนการค้าสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าหรือร่างกฎหมาย EU Regulation on Deforestation-Free Products  ซึ่งได้ระบุุวิธีการควบคุมสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า  อันจะมีผลต่อสินค้านำเข้าและสินค้าที่มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีภายในตลาด EU โดยไม่ได้มีเจตนาที่่จะสั่งห้าม (ban) สินค้าจากประเทศคู่ค้าใด ๆ และพร้อมที่่จะเจรจา ให้การสนับสนุนประเทศคู่ค้าทุกประเทศให้สามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการวางแผนที่จะขยายกรอบความร่วมมือนี้ไปยังประเทศที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน  อย่างไรก็ตามมีข้อกังขาจากประเทศคู่ค้าบางประเทศว่าร่างกฎหมาย ฯ เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติ (Discrimination) และเป็นการปกป้องตลาด(Protectionism) ของ EU

สมาคมยางพาราไทยจะติดตามความคืบหน้าของมาตรการหรือกฎหมายสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม และจะแจ้งสมาชิกสมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือมาตรการ CBAM และมาตรการอื่นๆ  ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราไทยและผลิตภัณฑ์ยางไปยังสหภาพยุโรป  และเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทย แบบองค์รวม(Holistic Approach) เพื่อความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด