history history
 
   
iconร่างกฎหมาย Deforestation-Free Products ของสหภาพยุโรป (EU) [   กันยายน  2565 ]

 

สมาคมยางพาราไทย ได้ติดตามความคืบหน้าร่างกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลดการทำลายป่าไม้และส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products)  ของสหภาพยุโรป (EU)  ทราบว่ากฎหมายดังกล่าว จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทในสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ที่มีการใช้หรือนำเข้าสินค้าที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำลายพื้นที่ป่าไม้ตามหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สินค้าประเภท เนื้อวัว ไม้ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปบางประเภท อาทิ เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และชอกโกแลต โดยกฎหมายจะบังคับให้บริษัทที่มีการใช้หรือนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะต้องสามารถระบุแหล่งที่มาของสินค้าได้อย่างชัดเจนและจะต้องเป็นการผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ  ซึ่งสหภาพยุโรปคาดว่าร่างกฎหมายนี้จะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละอย่างน้อย 31.9 ล้านเมตริกตัน 

สถานะล่าสุดของร่างกฎหมาย Deforestation-Free Products ณ  เดือนกรกฎาคม 2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรปได้มีมติร่วมกันเสนอให้ 1) มีการพิจารณาขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมหมู แกะ แพะ สัตว์ปีก ข้าวโพด ยาง ถ่าน และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ 2) เพิ่มการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และ 3) ให้คณะกรรมาธิการฯ ทบทวนกฎหมายภายใน 2 ปี เพื่อพิจารณาการขยายขอบเขตของสินค้าให้ครอบคลุมอ้อย เอทานอล และผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ และทบทวนกฎหมายภายใน 1 ปี เพื่อพิจารณาการขยายขอบเขตของกฎหมายให้ครอบคลุมระบบนิเวศอื่น เช่น ป่าหญ้า ป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยรัฐสภายุโรปเต็มคณะมีกำหนดลงมติในเดือนกันยายน 2565 เพื่อเป็นท่าทีในการหารือกับคณะมนตรีฯ และคณะกรรมาธิการฯ ก่อนสรุปเป็นระเบียบเพื่อใช้บังคับต่อไป ตามแนวทางคาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในปี 2566 มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 1-2 ปี  อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป เนื่องจากยังมีความกังวลต่อเกษตรกรรายย่อยและต้นทุนต่อการทำ Due Diligence อีกทั้งกฎหมายมีกลไกการทบทวนให้สามารถเพิ่มเติมสินค้าอื่นๆ ในภายหลังได้ 

คณะกรรมการสมาคมยางพาราไทย ได้พิจารณาและมีความเห็นดังนี้ 1) เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย Deforestation-Free Products ของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ อันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม SDG ของ UN และ BCG Model และ 2. ขอคัดค้านการรวมยางพาราในร่างกฎหมาย Deforestation-Free Products ของสหภาพยุโรป เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Due Diligence จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ในด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และกระบวนการทำ Due Diligence กับเกษตรกรชาวสวนยาง 2 ล้านรายในประเทศไทยต้องใช้เวลานานและยากในการปฏิบัติ เพราะต้องมีกลไกและเครื่องมือ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเงินทุนที่มากมายจากรัฐบาล และประเทศไทยตอนนี้ก็มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากภาวะโควิดและ Geo Politics หากรัฐสภายุโรปรวมเอาผลิตภัณฑ์จากยางพาราเข้าไปในกฎหมายดังกล่าว จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพี่น้องชาวสวนยางกลุ่มดังกล่าวที่ไม่สามารถขายยางได้ และอาจมีผลทำให้เกิดกรณีกีดกันทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาราคายางตกต่ำในภาพรวม

สมาคมยางพาราไทยจะติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมาย Deforestation-Free Products ของสหภาพยุโรป หรือกฎหมายสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม การค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อแจ้งสมาชิกสมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกฎหมายซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราไทยและผลิตภัณฑ์ยางไปยังสหภาพยุโรป  และเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทย แบบองค์รวม (Holistic Approach) เพื่อความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด