ปัจจุบันทวีปแอฟริกาเป็นตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ส่งออกและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องด้วยเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มหันไปหาตลาดใหม่อย่างทวีปแอฟริกา ซึ่งมีศักยภาพและเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับสองรองจากทวีปเอเชีย เป็นดินแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย มีพื้นที่ประมาณ 18,937 ล้านไร่ โดยเป็นที่ราบสูงประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ตั้งอยู่ในเขตร้อน ค่อนข้างแห้งแล้ง และมีทะเลทรายขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคน(worldometers.info ปี 2563) อีกทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ต่างๆ แต่แอฟริกากลับเป็นทวีปที่ยากจนและด้อยพัฒนา โดย IMF คาดการณ์ GDP ของภูมิภาค Sub-Saharan Africa(กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา จำนวน 45 ประเทศ) ปี 2563 อยู่ที่ -3.2% ซึ่งเป็นระดับติดลบที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆและคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 3.4%ในปี 2564
สถานการณ์ยางพาราในโกตดิวัวร์ ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหม่ที่น่าจับตามองและมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปี 2564 ทวีปแอฟริกาครองสัดส่วนการผลิตถึงร้อยละ 8 โดยแหล่งผลิตสำคัญคือ ประเทศโกตดิวัวร์ ไนจีเรีย และไลบีเรีย ซึ่งโกตดิวัวร์ผลิตยาง 1.047 ล้านตัน และส่งออก 1.076 ล้านตัน(IRSG) คิดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นถึง 9% ของโลก นอกจากนี้ยังมีโรงงานยางล้อหลายแห่งตั้งอยู่ที่ทวีปแอฟริกา เช่น มิชิลิน และบริดจ์สโตน นับเป็นโอกาสที่ดีแก่ผู้ประกอบการไทยในการหาตลาดใหม่ซึ่งมีศักยภาพ
อย่างไรก็ตามตลาดแอฟริกายังเป็นที่รู้จักน้อย เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง แต่มีโอกาสมาก ดังนั้นการขยายตลาดยางแอฟริกา ควรมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้ 1.ภาครัฐควรศึกษาตลาดเชิงลึกให้เข้าถึงข้อมูลของประเทศแอฟริกาอย่างแท้จริงและเผยแพร่ให้กับธุรกิจไทย 2.ภาครัฐควรสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายธุรกิจ และ 3.องค์กรการค้าภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมการค้าต่าง ๆ ควรจะต้องมีการร่วมมือประสานงานกัน โดยมีการจับคู่ธุรกิจทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำการค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบในการทำธุรกิจ และมีการจัดทำรายชื่อ บริษัทคู่ค้าที่มีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย รวมทั้งควรมีการรวมกลุ่มนักธุรกิจในการเจรจาทางการค้า เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำธุรกิจในแอฟริกาควรประเมินสถานะทางการเงินของคู่ค้า/ธนาคารผู้ซื้อ กำหนดเทอมการชำระเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ พร้อมทั้งป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรัดกุม
ตามข้อมูลที่ได้เรียนมา ประมวลได้ว่าทวีปแอฟริกาเป็นตลาดยางธรรมชาติและอุตสาหกรรมยางที่สำคัญ และมีแนวโน้มของความสำคัญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อทดแทนตลาดหลักโดยเร่งด่วนต่อไป
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย