สมาคมยางพาราไทยได้ติดตามความคืบหน้ากฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า(Deforestation-free products) ของสหภาพยุโรป ซึ่งสินค้าส่งออกจากไทยที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ วัวและผลิตภัณฑ์ โกโก้และผลิตภัณฑ์ กาแฟ ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ และถั่วเหลือง โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรป กว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565
สาระสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าคือกำหนดให้ผู้ประกอบการดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้า (Mandatory Due Diligence) ว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยการมีพิกัดภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า และสหภาพยุโรปได้กำหนดแนวทางตรวจสอบในรูปแบบควบคู่ระหว่างการระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) กับการควบคุมระยะไกลผ่านภาพจากดาวเทียม (satellite images) ต้องใช้ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกเพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะมีเวลา 18 เดือนหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าว (ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) การไม่ปฏิบัติตามมีการกำหนดค่าปรับตามสัดส่วนความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าสินค้า โดยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของรายได้รายปีในสหภาพยุโรปของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ทางฝ่าย สหภาพยุโรปยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการ และการกระจายข้อมูลอย่างทั่วถึง นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่สามผู้ส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายฯ แสดงความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิต ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า และก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรป นอกจากนี้เป็นภาระของกลไกการตรวจสอบ การประเมินความเสี่ยงที่ไม่เป็นกลาง เป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการระบุแหล่งที่มา รวมทั้งระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ไม่เพียงพอ (ที่มา : สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์)
ในส่วนประเทศไทย สมาคมฯ ได้รับทราบข่าวว่าผู้แทนจากสหภาพยุโรปมีความมั่นใจและชื่นชมการจัดการข้อมูลยางพาราของไทยสำหรับรองรับกฎหมายดังกล่าว จากการที่ กยท. ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการยางไว้ในระบบข้อมูลของ กยท. ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางไทย กว่า 90% ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. แล้ว โดยสามารถแสดงประเภทเอกสารทางกฎหมาย ระบุพื้นที่ตั้งของสวนยางได้ ซึ่ง กยท. ได้สำรวจและจัดทำแผนที่พิกัดแปลงเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ตั้งของแปลงที่ไม่บุกรุกป่า เทียบกับแผนที่ป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ประเทศไทย และ Global Forest Watch นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนประเมินการจัดการความเสี่ยงภายใต้โครงการ "Rubber Way” เพื่อประเมินและสร้างแผนที่ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) (ที่มา : ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.)
สมาคมยางพาราไทยจะติดตามความคืบหน้าของกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า(Deforestation free products) ของสหภาพยุโรป หรือกฎหมายสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม การค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อแจ้งสมาชิกสมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกฎหมายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราไทยและผลิตภัณฑ์ยางไปยังสหภาพยุโรป และเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยแบบองค์รวม (Holistic Approach) เพื่อความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย