ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไทย มีความเห็นชอบร่วมกัน และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการให้ภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เป็นผู้นำทางการค้าและการลงทุน ในการนำไปสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภาษา โดยรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสนับสนุนในภาครัฐให้จัดสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลักดันให้ IMT-GT เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
IMT-GT มีกิจกรรมการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The 15th IMT-GT Summit) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยผู้นำแผนงาน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT โดยมีความสำเร็จที่สำคัญของความร่วมมือ อาทิ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในอนุภูมิภาคซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสเดียวกันนี้ประเทศไทยได้เน้นย้ำประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ 4 ประเด็นคือ 1)เร่งรัดพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จและบรรจุโครงการใหม่ในโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ(PCPs) เพื่อความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและสอดรับกับแผนงาน MR Map ของไทย 2)เร่งกระชับความร่วมมือในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศสมาชิก IMT-GT รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการโครงการปาล์มน้ำมันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และดึงดูดการลงทุนให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าด้านการเกษตรให้แก่อนุภูมิภาค IMT-GT 3)เร่งรัดการให้ประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ (Framework of Cooperation between the Government of Indonesia, Malaysia, and Thailand in Customs Immigration and Quarantines Procedures หรือ FoC in CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าอย่างไร้รอยต่อ และเพิ่มพูนศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนวในอนุภูมิภาค IMT-GT และ4)พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสอดรับกับ BCG Model ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ อาทิ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของไทย รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงการภายใต้แผนงานเมืองสีเขียว (Green Cities) และเร่งพัฒนาโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (SUDF) นอกจากนั้นทั้ง 3 ประเทศ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาหลัก ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน และธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังได้หารือประเด็นความร่วมมือสำคัญ อาทิ การพัฒนาสีเขียวและเศรษฐกิจสีครามสู่ความยั่งยืน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับการพัฒนาอนุภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมศักยภาพของ IMT-GT เช่น ฮาลาล ยางพารา และการท่องเที่ยว(ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และล่าสุดได้มีการจัดงานสัมมนาระดับผู้นำ IMT-GT เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความร่วมมือแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรม Borobudur กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โอกาสนี้ IMT-GT ได้ให้เกียรติเชิญนายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาเมืองยางพารา รวมถึงเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์และพัฒนาความร่วมมือในกลุ่ม IMT-GT
จากข้อมูลดังกล่าว ประมวลได้ว่าความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อปกป้องผลประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สมาคมฯคาดหวังความร่วมมืออย่างเข้มแข็งภายใต้กรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์แก่ประเทศไทยโดยภาพรวม
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย