ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นซึ่งมีถิ่นกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำอเมซอน ประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ แหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญอยู่บริเวณแหลมมลายู เนื่องจากมีสภาพดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายนับแต่ปี พ.ศ. 2425 เป็นต้นมา ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มยางล้อรถยนต์เช่น ยางล้อรถยนต์รถบรรทุก รถที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร รถจักรยานยนต์และยางล้อเครื่องบิน 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางใช้ในงานวิศวกรรมหรืออุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนยางในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้าง สายพาน ท่อยาง และลูกกลิ้งยาง 3) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้น เช่น ถุงมือ ถุงยางอนามัย ยางยืด ลูกโป่ง อุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และ4) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เช่น รองเท้ายาง พื้นรองเท้า ยางรัดของ ผลิตภัณฑ์กีฬา ของเล่น และจุกนมเด็ก โดยสหภาพยุโรปจัดยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical Raw Materials : CRMs) คือเป็นวัตถุดิบที่มีแหล่งผลิตจำนวนจำกัดหรือไม่สามารถใช้วัตถุดิบประเภทอื่นทดแทนได้หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง หรือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำน้อย จึงส่งผลให้สหภาพยุโรปจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนายางธรรมชาติเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความหลากหลายของอุปทาน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนายางธรรมชาติจากแหล่งใหม่เพื่อลดการผูกขาดยางธรรมชาติจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกและความเสี่ยงจากราคายางที่มีความไม่แน่นอนสูง
ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทนยางธรรมชาติโดยต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืน และเป็นพืชที่ปลูกได้ในยุโรป เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านอุปทานและราคายาง โดยพืชที่มีโอกาสนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนยางพาราจัดอยู่ในวงศ์พวกดอกทานตะวัน(Asteraceae) ได้แก่ 1) ต้นวายูเล่ (Guayule) เป็นหญ้าทนแล้งชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดจากเม็กซิโก ใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปี ยางที่ได้มีคุณภาพเทียบเคียงกับยางพาราและปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้งหรือเขตเมดิเตอร์เรเนียน และยังไม่มีรายงานสารก่อเกิดอาการแพ้ แต่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่อย่างมากและใช้ได้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์บางอย่างเท่านั้น (ที่มา : อารักษ์ จันทุมา สถาบันวิจัยยาง) และ 2) ต้นแดนดิไลออน (Dandilion) เป็นวัชพืชที่เติบโตได้ดีแม้ในดินเสื่อมคุณภาพ ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยน้ำยางที่สกัดจากรากต้นแดนดิไลออนมีปริมาณมากกว่าจากต้นยางพาราถึง 10 เท่าบนพื้นที่เพาะปลูกเท่ากัน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 ครั้ง/ปี ง่ายต่อการปลูกใหม่หรือขยายกำลังการผลิต แต่ต้นทุนสกัดน้ำยางยังราคาสูงมาก นอกจากนี้อุปทานยางล้อรถยนต์ที่ใช้ยางธรรมชาติจากพืชชนิดใหม่ยังออกสู่ตลาดน้อยมาก(ที่มา:สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป)
สมาคมยางพาราไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัตถุดิบทดแทนยางพาราซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยางธรรมชาติ จึงขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยสมาคมฯ จะได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจเพื่อนำเสนอแก่สมาชิกในโอกาสต่อไป
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย