history history
 
   
iconตลาดคาร์บอน [   พฤศจิกายน  2566 ]

 

ตั้งแต่ปี 1966 ภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กร Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้รายงานใน IPCC AR6 ชี้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงเกิน 4 องศาเซลเซียส ณ สิ้นศตวรรษ สภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไทยติดโผกลุ่มเสี่ยงสูงมากต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจในอนาคตจากปรากฎการณ์เอลนีโญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate change) ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในรูปของภัยธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลเป็นวงกว้างแก่ภาคเกษตร ป่าไม้ พื้นที่ชายฝั่งทะเล ทรัพยากรน้ำ สุขภาพ และสิ่งมีชีวิต มีนัยต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้หลายประเทศในโลกร่วมมือกันแก้ปัญหา ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

แนวทางหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือการสร้างตลาดคาร์บอนหรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต  โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน "คาร์บอนเครดิต" โดยใช้แนวคิดการใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลง และยังทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีต้นทุนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องบรรเทาหรือชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนด้วย ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย โดยผู้เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target) ในทางกลับกัน หากผู้เข้าร่วมในตลาดไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ก็จะถูกลงโทษ โดยตลาดคาร์บอนภาคบังคับเป็นตลาดใหญ่มีสภาพคล่องสูง และทุกประเภทโครงการซื้อขายราคาเดียว และ 2)ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ หรือองค์กร โดยความสมัครใจ ซึ่งอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย เป็นการซื้อเพื่อ CSR ขนาดตลาดไม่ใหญ่มาก และราคาแตกต่างกันตามประเภทของโครงการ ขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ 1) ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และ 2) ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง โดยไม่ผ่านตลาด(ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน))

สมาคมยางพาราไทยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ เพื่อลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นไปซื้อขายผ่านตลาดคาร์บอนต่อไป


นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด