เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tension) เช่น สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจขยายวงกว้าง สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจรุนแรงขึ้นอีกครั้ง การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ-จีน(Decoupling) โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรลดการพึ่งพาการค้ากับจีน พึ่งพากลุ่มตนเองมากขึ้น เศรษฐกิจจีนชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการส่งออกสินค้าของไทย ปัญหาภัยแล้งอาจรุนแรงกว่าคาด ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวรุนแรง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก (Real GDP Growth Rate) ปี 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าการส่งออกฟื้นตัวจากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวขึ้นประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานได้คลี่คลายลงมา
สถานการณ์ยางพาราปี 2567 คาดว่ามีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงซึ่งจะกดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง โดยสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC) คาดการณ์ว่าปี 2566 ผลผลิตยางธรรมชาติโลกเป็น 15.15 ล้านตัน(เพิ่มขึ้น 3.5 % จากปี 2565) โดยไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 รองลงมาคืออินโดนีเซีย ไอวารี่โคสต์ เวียดนามและอินเดีย ตามลำดับ ส่วนความต้องการใช้ยางธรรมชาติโลกเป็น 15.44 ล้านตัน (ลดลง 0.5 % จากปี 2565) โดยจีนเป็นผู้ใช้ยางอันดับ 1 รองลงมาคือ ไทย อินเดีย EU-27& UK และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจาก Climate change ที่ถี่และรุนแรงขึ้น และผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความท้าทายในการปรับตัวกับกฎระเบียบ Climate change ที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก ได้แก่ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products) ของสหภาพยุโรปซึ่งจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2568 ซึ่งครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โคและเนื้อไม้
โดยสรุป สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมืออันเข้มแข็งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตลอดจนประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบต่างๆ ทางการค้า เพื่อความยั่งยืนของยางธรรมชาติตลอดไป
ในโอกาสศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2567 ผมขอส่งความปรารถนาดี และขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ และความเจริญในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย