history history
 
   
iconบทบาทสมาคมยางนานาชาติ [   ตุลาคม  2555 ]

 

 

      สมาคมยางนานาชาติ  (IRA) ก่อตั้งขึ้นที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2514 ด้วยความร่วมมือของ สมาคมการค้าจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพารา มีสมาชิกเริ่มต้น 21 ราย โดยสมาคมยางพาราไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่ม สมาคมยางนานาชาติบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารจำนวน 8 สมาคมการค้าซึ่งมาจากประเทศผู้ผลิตยาง 4 สมาคมและประเทศผู้ใช้ยาง 4 สมาคม มีวาระการบริหารงาน 2 ปี วัตถุประสงค์หลักของสมาคมยางนานาชาติคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านการค้ายาง การจัดทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างประเทศด้วยความเป็นธรรมประสานความร่วมมือด้านการผลิต การค้า และการใช้ยางธรรมชาติระหว่างประเทศผู้ผลิตยางและประเทศผู้ใช้ยาง และการแก้ปัญหาธุรกิจยาง รวมทั้งการพัฒนาการค้ายางอย่างเป็นธรรม  นอกจากนี้สมาคมยางนานาชาติยังมีบทบาทในการประสานความร่วมมือกับองค์กรยางระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพยาง และพัฒนาอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของโลกโดยรวม ปัจจุบันสมาคมยางนานาชาติได้ก่อตั้งมากกว่า 41 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 24 องค์กร จาก 8 ประเทศ สำนักงานกองเลขาธิการสมาคมยางนานาชาติ ตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย

 

      สมาคมยางนานาชาติได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก โดยสมาคมยางพาราไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิกและกรรมการบริหารซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมาคมยางนานาชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้สมาคมยางพาราไทย โดยนายแสง อุดมจารุมณี ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงในการเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมยางนานาชาติระหว่างปี 2546-2547   สมาคมยางนานาชาติจะมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในปี 2555 สมาคมยางพาราไทย โดยนายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมฯ และนางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ  ในวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรม One World Pataling Jaya ประเทศมาเลเซีย  โดยมี Dr. Salmiah Ahmad จากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) เป็นประธานการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) ตลาดโภคภัณฑ์ยางสิงคโปร์ (SGX) สมาคมยางอินโดนีเซีย (GAPKINDO) และสมาคมยางญี่ปุ่น (RTAJ) ในการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญดังนี้ 1) ไม่มีการแก้ไขเนื้อความใดๆ ในมาตรฐาน Green Book โดยหากมีการแก้ไขชื่อองค์กรหรือหน่วยงาน ขอให้เพิ่มเติมในส่วน Annex หรือ Appendix ของ Green Book  2) คณะกรรมการ IRA RSS Quality Packing Committee(QPC) มีหน้าที่ในการจัดเตรียมตัวอย่างยางแผ่นรมควันตามมาตรฐาน Green Book สำหรับอ้างอิงในการค้ายาง   3) การแก้ไขสัญญาการค้ายางแท่งและน้ำยางข้น(Preserved rubber latex in drums  international contract and Technically Specified rubber International contract) สมาคมยางพาราไทยได้เสนอขอแก้ไขสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ผ่านสภาธุรกิจยางอาเซียน (ARBC) หากได้ข้อสรุปจะนำเสนอขอแก้ไขในนาม ARBC แก่ที่ประชุม IRA ต่อไป   4) การขอเพิ่มสถาบันวิจัยยางเป็น recognized regional laboratory แห่งที่สอง ในสัญญาการค้ายางแท่งและน้ำยางข้น ซึ่งปัจจุบันระบุศูนย์วิจัยยาง สงขลา เป็น recognized regional laboratory ที่ประชุมได้พิจารณาและมอบหมายให้กองเลขาธิการ IRA ตรวจสอบข้อบังคับของ IRA ว่าได้กำหนดหรือไม่ว่าแต่ละประเทศมี recognized regional laboratory ได้แห่งเดียว หากไม่ได้กำหนด  ที่ประชุมรับในหลักการที่จะเพิ่มสถาบันวิจัยยางเป็น recognized regional laboratory แห่งที่สอง โดยคณะกรรมการยางมาเลเซีย (MRB) จะดำเนินการตรวจสอบและรับรองห้องทดลองของสถาบันวิจัยยางต่อไป  5) สมาคมยางชิงเต่าขอสมัครเป็นสมาชิกสมาคมยางนานาชาติ ที่ประชุมได้หารือและมอบหมายให้กองเลขาธิการ IRA ร่วมกับ Mr. Teo Soon Huat จากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) สอบถามไปยังสมาคมยางชิงเต่าเพื่อขอหนังสือยืนยันการอนุญาตจากรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลท้องถิ่น ให้สมาคมยางชิงเต่าสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมยางนานาชาติ


      สรุปได้ว่าสมาคมยางนานาชาติมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมการค้ายางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

 

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด