history history
 
   
iconเหลียวหลังแลหน้า [   มีนาคม  2567 ]

 

คณะกรรมการสมาคมยางพาราไทย ได้บริหารกิจการของสมาคม ฯ ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการสมาคมฯ มีแนวทางการบริหารงานสำคัญดังนี้ 1) บริหารสมาคมด้วยความโปร่งใส โดยยึดหลักธรรมาภิบาล 2) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ  3) ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน  4) เป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง รวมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านธุรกิจยาง เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ยางได้รับประโยชน์ร่วมกัน 5) สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสมาชิกและสมาคมฯ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยอย่างยั่งยืน 6) ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาชิก และ 7) ส่งเสริมสมาคมยางพาราไทยให้มีภาพลักษณ์ที่ดีให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของยางพาราไทยในตลาดโลก

คณะกรรมการสมาคมฯ มีความรู้สึกยินดี เต็มใจและถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกให้เข้ามาบริหารองค์กรยางภาคเอกชนซึ่งมีความสำคัญในระดับชาติ คณะกรรมการสมาคมฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาปรับปรุงการบริหารงานสมาคมฯ และการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมในการเป็นตัวแทนสมาคมฯ และการบริการสมาชิกอย่างมีคุณภาพและรวดเร็ว เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่สมาชิก คณะกรรมการสมาคมฯ ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการบริหารสมาคมฯ ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสมาชิกทุกท่าน ส่งผลให้กิจกรรมส่วนใหญ่ของสมาคมฯ สำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเป้าหมายตลอดระยะเวลาการบริหารงาน คณะกรรมการสมาคมฯ  ได้เป็นตัวแทนสมาคมฯ ในการเสนอความคิดเห็น และแนวทางต่างๆ รวมถึงผลักดันนโยบายสำคัญแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ในส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน สมาคมฯได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการ Trade Environment ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ภารกิจสำคัญด้านมาตรฐานสินค้าคือการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และคณะกรรมการวิชาการรายสาขาเรื่องยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภารกิจสำคัญอีกประการด้านการวิจัยและพัฒนาคือเข้าร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภารกิจสำคัญอื่น ๆ  คือการเข้าร่วมสัมมนา ประชุมวิชาการและร่วมเป็นวิทยากรบรรยายด้านอุตสาหกรรมยางพาราไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ข้อเสนอแนะและผลักดันนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนนำความรู้ทางวิชาการ ข้อมูลข่าวสารด้านยางพาราที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบันเผยแพร่แก่สมาชิกสมาคมฯ อย่างรวดเร็ว  บทบาทสำคัญในระดับนานาชาติคือการเป็นประธานและเลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ (IRCo)  คณะกรรมการสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศ(ITRC)  และสมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียน (ARBC)   

คณะกรรมการสมาคมฯ คณะอนุกรรมการฝ่าย และคณะทำงานต่างๆ ได้ดำเนินการและรับผิดชอบกำกับดูแลกิจกรรมด้านต่างๆตลอดถึงประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาแก่สมาชิกสมาคมฯ ในประเด็นสำคัญดังนี้ 1)กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Regulation on Deforestation-free products: EUDR) โดยผู้แทนสมาคมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การยางแห่งประเทศไทย ผู้แทนสหภาพยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าการเตรียมการในเรื่องกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation free products) ของสหภาพยุโรป หรือประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะๆ เพื่อสมาชิกจะได้เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR ซึ่งจะบังคับใช้ในต้นปี 2568 2) สัญญาการค้า International Contract for Preserved Latex in Drums ซึ่งได้รับการรับรองและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 และ 3) ร่างสัญญาการค้าน้ำยางข้น (International Contract for Bulk Latex) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาธุรกิจยางอาเซียนเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ ร่างสัญญาฉบับนี้จะถูกเสนอต่อสมาคมยางนานาชาติ(IRA) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ (IRA) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดียวกับงานเลี้ยงสมาคมยางพาราไทย เพื่อพิจารณาและรับรองต่อไป

กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีส่วนช่วยในการพัฒนายางของประเทศให้ก้าวหน้าตามแนวทางที่ได้วางไว้  โอกาสนี้ในนามคณะกรรมการสมาคมยางพาราไทย ใคร่ขอขอบคุณสมาชิกสมาคมฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเป็นอย่างสูง สำหรับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสมาคมฯ  จนประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด