history history
 
   
iconสถานการณ์ยางพาราปี 2556 [   ธันวาคม  2555 ]

 

      สถานการณ์ยางพาราปี 2556  คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) จะอยู่ที่  3.5 %  และ 3.9 %  ในปี 2555 และ 2556   ตามลำดับ นอกจากนี้ IMF ได้คาดการณ์ว่าตลาดใหม่เช่น จีน อินเดีย และบราซิล มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดย GDP จีนปี 2555 จะอยู่ที่ 8 % และปรับเป็น 8.5 % ในปี 2556 ส่วนอินเดีย คาดการณ์ว่า GDP จะอยู่ที่ 6.1 % และ 6.5 % ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ส่วนบราซิล คาดการณ์ว่า GDP จะอยู่ที่ 2.9 % และ 4.2 % ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน  ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะหน้าผาการคลังสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกดดันตลาดทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งสองเศรษฐกิจต่างก็เป็นตลาดหลักของจีนในขณะนี้  ความผันผวนของตลาดเงินตราและราคาน้ำมัน  รวมถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติทั่วโลก ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่า  GDP  ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก 


      องค์กรยางระหว่างประเทศ (IRSG)  คาดการณ์ว่าในปี  2563  ผลผลิตยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 13.77 ล้านตัน  ปริมาณการคาดการณ์ดังกล่าวมาจากผลผลิตยางพาราในทวีปเอเชีย  12.46 ล้านตัน  คิดเป็น 90.5%  จากทวีปแอฟริกา 855,000 ตัน  คิดเป็น 6.2% และจากลาตินอเมริกา 449,000 ตัน  คิดเป็น 3.2%  โดยอัตราผลผลิตดังกล่าวนั้น  ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งการผลิตยางธรรมชาติได้เป็นอันดับหนึ่ง  คือ 3.82 ล้านตัน  รองลงมาคือประเทศอินโดนีเซีย 2.54 ล้านตัน  ประเทศเวียดนาม 1.31 ล้านตัน  ประเทศจีน 1.29 ล้านตัน  และประเทศอินเดีย 1.18 ล้านตัน ในด้านความต้องการยางพาราในตลาดโลก  คาดว่าในปี  2563  ปริมาณความต้องการยางพาราจะเพิ่มขึ้นเป็น 15.36 ล้านตัน  ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากตลาดเอเชีย 11.8 ล้านตัน  คิดเป็น 76.8%  ประเทศที่มีอัตราความต้องการใช้ยางพาราสูงได้แก่ประเทศจีน  ประเทศอินเดีย  และประเทศญี่ปุ่น  นอกจากนี้ยังมีความต้องการใช้ยางพาราในตลาดลาตินอเมริกาอีกด้วย  และในปี 2563  ประเทศที่มีแนวโน้มจะใช้ยางธรรมชาติสูงเป็นอันดับหนึ่งคือ  ประเทศจีน 6.39 ล้านตัน  รองลงมาคือประเทศอินเดีย 1.94 ล้านตัน  ประเทศสหรัฐอเมริกา 946,000 ตันและประเทศญี่ปุ่น 795,000 ตัน


      สำหรับราคายางไทยมีความผันผวนอย่างมากในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา  โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2554 ราคายางมีความผันผวนและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากสาเหตุดังนี้  1) เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งรุนแรงในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ปรับตัวลงอย่างมาก 2)เศรษฐกิจและระบบการเงินของโลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกลดลง 3) วิกฤตหนี้ยูโรโซนยังคงบานปลาย และ4) ความผันผวนของตลาดหุ้นและราคาน้ำมัน  อย่างไรก็ตามสมาคมยางพาราไทยยังคงมีความเห็นเชิงบวกว่า  ยางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี  ความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างสภาความร่วมมือด้านยางระหว่างประเทศ(ITRC) ตลอดจนภาครัฐไทยมีมาตรการและความพร้อมในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจึงน่าจะทำให้สถานการณ์ยางพาราสดใสยิ่งขึ้น

 
      โดยสรุป สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนตลอดไป    และในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2556  ผมขอส่งความปรารถนาดี และขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ และความเจริญในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด