history history
 
   
iconตลาดแอฟริกา [   มกราคม  2557 ]

 

       ปัจจุบันทวีปแอฟริกาเป็นตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ส่งออกและ นักลงทุนต่างชาติ เนื่องด้วยเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มหันไปหาตลาดใหม่อย่างทวีปแอฟริกา   ซึ่งมีศักยภาพและเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับสองรองจากทวีปเอเชีย ประกอบด้วย 54 ประเทศ  ประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน (ข้อมูลปีพ.ศ. 2552) อีกทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ต่างๆ แต่แอฟริกากลับเป็นทวีปที่ยากจนและด้อยพัฒนา ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น การระบาดของโรคร้ายแรง รัฐบาลคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระดับการรู้หนังสือที่ต่ำ การขาดแคลนเงินทุนต่างชาติ และความขัดแย้งระหว่างชนชาติ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของทวีปแอฟริกาใน ปี 2557 เป็น 5.9 % โดยปี 2555 แอฟริกาผลิตยางธรรมชาติปริมาณ 490,600 ตัน ส่งออก 478,300 ตัน ความต้องการใช้ยางธรรมชาติจาก 3 ประเทศสำคัญในทวีปแอฟริกาได้แก่อียิปต์ ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ รวม 84,000 ตัน(องค์กรศึกษายางระหว่างประเทศ)  ทวีปแอฟริกานำเข้ายางพาราปริมาณ 71,500 ตัน  โดยนำเข้าจากไทยปริมาณ 15,914 ตัน มูลค่า 1,501.83 ล้านบาท(กรมศุลกากร)

 

      อย่างไรก็ตามตลาดแอฟริกายังเป็นที่รู้จักน้อย  เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง แต่มีโอกาสมาก ดังนั้นการขยายตลาดยางแอฟริกา ควรมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้  1. ภาครัฐควรศึกษาตลาดเชิงลึกให้เข้าถึงข้อมูลของประเทศแอฟริกาอย่างแท้จริงและ เผยแพร่ให้กับธุรกิจไทย 2. ภาครัฐควรสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสนับสนุนการสร้างเครือ ข่ายธุรกิจ และ3.องค์กรการค้าภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมการค้าต่าง ๆ ควรจะต้องมีการร่วมมือประสานงานกัน โดยมีการจับคู่ธุรกิจทั้งภายในและภายนอก   พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำการค้ากับคู่ค้าในต่าง ประเทศ  รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบในการทำธุรกิจ และมีการจัดทำรายชื่อ บริษัทคู่ค้าที่มีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย รวมทั้งควรมีการรวมกลุ่มนักธุรกิจในการเจรจาทางการค้า เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

 

      ตามข้อมูลที่ได้เรียนมา ประมวลได้ว่าทวีปแอฟริกาเป็นตลาดยางธรรมชาติและอุตสาหกรรมยางที่สำคัญและมี แนวโน้มของความสำคัญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อทดแทนตลาดหลักโดยเร่งด่วนต่อไป 

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด