history history
 
   
iconบทบาทของไทยในสมาคมยางนานาชาติ [   พฤษภาคม  2557 ]

 

          สมาคมยางนานาชาติ  (IRA) ก่อตั้งขึ้นที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2514 ด้วยความร่วมมือของสมาคมการค้าจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพารา มีสมาชิกทั้งหมด 24 องค์กร จาก 8 ประเทศ โดยสมาคมยางพาราไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่ม สมาคมยางนานาชาติบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารจำนวน 8 สมาคมการค้าซึ่งมาจากประเทศผู้ผลิตยาง 4 สมาคมและประเทศผู้ใช้ยาง 4 สมาคม มีวาระการบริหารงาน 2 ปี วัตถุประสงค์หลักของสมาคมยางนานาชาติคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านการค้ายาง การจัดทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างประเทศด้วยความเป็นธรรม ประสานความร่วมมือด้านการผลิต การค้า และการใช้ยางธรรมชาติระหว่างประเทศผู้ผลิตยางและประเทศผู้ใช้ยาง และการแก้ปัญหาธุรกิจยาง รวมทั้งการพัฒนาการค้ายางอย่างเป็นธรรม  นอกจากนี้สมาคมยางนานาชาติยังมีบทบาทในการประสานความร่วมมือกับองค์กรยางระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพยาง และพัฒนาอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของโลกโดยรวม ปัจจุบันสำนักงานกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ตั้งอยู่ที่สมาคมยางพาราไทย

          สมาคมยางนานาชาติได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก โดยสมาคมยางพาราไทย เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมาคมยางนานาชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้นายสุเมธ สินเจริญกุล รองประธานบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงในการเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมยางนานาชาติ และนายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย เข้ารับตำแหน่งเลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ  วาระปี 2556-2557   สมาคมยางนานาชาติมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในปี 2557 นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย  นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ นายประสิทธิ์ เพชรหนูเสด และนายภูมิเมธ จันทวดี เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ  ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรม เพนินซูลา เอ็กเซลซิเออร์ ประเทศสิงคโปร์  โดยมีนายสุเมธ สินเจริญกุล เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) ตลาดโภคภัณฑ์สิงคโปร์ (SICOM)  สมาคมยางยุโรป (RTAE) และสมาคมยางญี่ปุ่น (RTAJ) 

          สาระสำคัญจากการประชุมคือ  การจัดเตรียมตัวอย่างยางแผ่นรมควันตามมาตรฐาน Green Book  โดยสมาคมยางญี่ปุ่นเสนอให้อ้างอิงตัวอย่างยางแผ่นรมควันที่ได้จัดทำระหว่างคณะกรรมการจัดเตรียมตัวอย่างยางแผ่นรมควัน ในปี 2548 โดยสมาคมยางญี่ปุ่น ยืนยันว่าตัวอย่างปี  2548  ได้รับการรับรองแล้วจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติปี 2554  ขณะที่สมาคมยางพาราไทยเสนอให้อ้างอิงตัวอย่างยางแผ่นรมควัน (RSS Master Samples) ที่ได้จัดทำในปี 2511 ซึ่งจัดเก็บที่ตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย  เนื่องจากเป็นตัวอย่างซึ่งมีความใกล้เคียงที่สุดกับตัวอย่างยางแผ่นรมควัน Green Book ฉบับดั้งเดิม  นอกจากนี้สมาคมยางพาราไทยแจ้งที่ประชุมสมาคมยางนานาชาติว่าสมาคมฯ ยินดีจัดทำตัวอย่างยางแผ่นรมควันใหม่ตาม RSS Master Samples ปี 2511   และจะได้เสนอตัวอย่างยางแผ่นรมควันใหม่แก่ที่ประชุมสมาคมยางนานาชาติครั้งต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซียตรวจสอบระเบียบข้อบังคับการรับรองห้องทดสอบยางแท่ง (recognized regional laboratory) ว่าได้กำหนดหรือไม่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการรับรองห้องทดสอบยางแท่งจำเป็นต้องเป็นสมาชิกสมาคมยางนานาชาติ 

          การประชุมสมาคมยางนานาชาติ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมากจากคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ   ในนามสมาคมยางพาราไทย ผมขอขอบคุณนายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ  และนายศุภเดช อ่องสกุล เลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ตลอดจนกองเลขานุการสมาคมยางพาราไทย  ในการดำเนินการจัดการประชุมเป็นที่เรียบร้อย  ผมคาดหวังว่าสมาคมยางนานาชาติจะมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมการค้ายางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป 

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด