history history
 
   
iconปัจจัยพื้นฐานในตลาดซื้อขายยางพาราไทย [   กรกฏาคม  2557 ]

 

          ตลาดซื้อขายยางพาราไทย เริ่มต้นจากการรวบรวมวัตถุดิบจากชาวสวนไปให้แก่ผู้ซื้อ คือโรงงานแปรรูปยางในประเทศ เพื่อทำการผลิตสินค้ายางพาราแปรรูปขั้นต้น สินค้าขั้นต้นที่ได้ก็จะนำไปจำหน่ายให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศ และผู้ซื้อในต่างประเทศต่อไป

           วัตถุดิบยางพาราจากเกษตรกรที่ผลิตมากที่สุดในปี 2556 คือยางแห้ง (ยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย เศษยาง ขี้ยาง) ร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด รองลงมาคือ น้ำยางสดร้อยละ 20 (ประมาณการจากสถาบันวิจัยยาง) จะถูกรวบรวมผ่านช่องทางการจำหน่าย 3 ช่องทางคือ การจำหน่ายผ่านพ่อค้าท้องถิ่นถึงโรงงาน การจำหน่ายจากเกษตรกรตรงถึงโรงงาน การจำหน่ายผ่านตลาดกลาง โดยช่องทางที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้จะอยู่ภายในประเทศทั้งสิ้น กรณีที่กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ชาวสวนยางรวมตัวกันดี ก็จะผลิตยางแผ่นรมควันไม่อัดเบลและยางแผ่นผึ่งแห้งจำหน่ายในตลาดกลาง เมื่อโรงงานแปรรูปได้วัตถุดิบแล้วก็จะผลิตสินค้ายางพาราขั้นต้น โดยในปี 2556 ได้ผลผลิตรวม 4.17 ล้านตัน มีสัดส่วนดังนี้ ยางแท่ง 1.6ล้านตัน (38%) ยางแผ่นรมควัน 912,676 ตัน (22%) ยางผสม 804,784 ตัน (19%) น้ำยางข้น 775,662 ตัน(18.5%) และยางอื่น ๆ 97,518 ตัน(2.3%) จากนั้นก็ทำการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 88 อีกร้อยละ 12 จำหน่ายให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่อยู่ภายในประเทศ โดยปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติในปี 2556 รวมทั้งสิ้น 3.6 ล้านตัน มีสัดส่วนดังนี้ ยางแท่ง 1.4 ล้านตัน (38%) ยางแผ่นรมควัน 793,613 ตัน (21.6%) ยางผสม 713,299 ตัน (19%)น้ำยางข้น 681,970 ตัน (18.6%) อื่น ๆ 83,797 ตัน (2.2%) (สถาบันวิจัยยาง) จึงถือว่าช่องทางการจำหน่ายสินค้ายางพาราขั้นต้นมี 2 ช่องทาง คือ การจำหน่ายภายในประเทศ  และการจำหน่ายในต่างประเทศ

           ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดยางมีหลายฝ่าย ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย การบริโภค โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยางพารา ได้แก่ เจ้าของสวนยาง สหกรณ์กองทุนสวนยาง โรงงานแปรรูปต่าง ๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยางพารา ได้แก่ พ่อค้ายางในประเทศ และพ่อค้ายางส่งออก ผู้บริโภคสินค้ายางพารา ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางทั้งในและต่างประเทศ และหน่วยงานของรัฐได้แก่ องค์การสวนยาง โดยทั่วไปการค้ายางมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.) การซื้อขายผ่านตลาดโลก อาทิ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ตลาด SICOM ของประเทศสิงคโปร์  ตลาด TOCOM ของประเทศญี่ปุ่น และตลาดเซี่ยงไฮ้ (SHFE) ของประเทศจีน เป็นต้น 2.)การซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ส่งออกและผู้ใช้ยาง (Direct Trade) การซื้อขายโดยตรงโดยไม่มีตลาดกลางดังกล่าว ทำให้ไม่มีราคาซื้อขายจริงเปิดเผย ให้อ้างอิงได้ ส่วนใหญ่ผู้ค้ายางนิยมซื้อขายกันโดยตรง (Direct Trade) เพราะมีความคล่องตัวและมีค่าใช้จ่ายถูก  และ 3.)การซื้อขายโดยวิธีแลกเปลี่ยนสินค้า (Counter Trade) โดยภาครัฐ นอกจากนี้สภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ(International Tripartite Rubber Council : ITRC) ประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งตลาดยางภูมิภาค(Regional Rubber Market) เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคายาง คาดการณ์ว่าตลาดนี้จะมีบทบาทสำคัญของโลกอีกตลาดหนึ่ง ในส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งตลาดรับมอบจริง(Exchange Trade Fund: ETF) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายาง และสะท้อนราคาที่แท้จริงในตลาดยางพารา

           จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ตลาดซื้อขายยางพาราไทย มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายฝ่ายทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง ภาครัฐ และเอกชน ทั้งผู้ผลิตยาง และผู้ใช้ยางภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นเป็นความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยไปสู่ระดับสากลและมีความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน เพื่อสร้างศักยภาพอันยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด