history history
 
   
iconสถานการณ์ราคายาง [   กันยายน  2557 ]

 

          ราคายางในตลาดโลกมีความผันผวนตามกลไกตลาด อุปสงค์และอุปทาน และจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยราคายางพาราเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนกว่า 1 ล้านครอบครัว หรือมากกว่า 6 ล้านคน และผู้ประกอบการยางพารา ทั้งนี้ประมวลได้ว่ามีสาเหตุจากความกังวลต่อผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป จีนควบคุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากภาวะตึงตัวในสภาพคล่อง  สต็อกยางชิงเต่าปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2556 ที่ปริมาณ 366,900 ตัน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวน เป็นต้น อย่างไรก็ตามราคายางได้รับปัจจัยบวกจากอุปทานยางที่ลดลงจากความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จากปรากฏการณ์เอลนิโน โดยปี 2554 ราคายางแผ่นดิบตลาดกลางต่ำสุดกิโลกรัมละ 80.01 บาท ปี 2555 ราคายางต่ำสุด 78.93 บาทต่อกิโลกรัมและปี 2556 ต่ำสุด 72.14 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูลจากตลาดกลางยางพาราสงขลา) และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
          จากปัญหาราคายางตกต่ำ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันเกษตรกร ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหายางพารา โดยรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 และได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่  19 กันยายน 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเป็นประธานการประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันเกษตรกร ทั้งนี้ในส่วนสมาคมยางพาราไทย กระผมในฐานะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติและเลขาธิการสมาคมฯ คุณบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิตได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้เน้นย้ำในการสร้างความปรองดองระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแล และกำหนดเรื่องยางเป็นวาระแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 11 โครงการ คือ 1. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง 10,000 ล้านบาท 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา 15,000 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 5.โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยางพารา  6. โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ/โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 7.โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 8.โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 9.โครงการลดต้นทุนการผลิต 10. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 11. โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสินค้ายางพารา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสินค้ายางพารา
          จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหายางพาราและสามารถผ่านวิกฤตการณ์นี้ได้ด้วยดี  
          ในส่วนสมาคมยางพาราไทย  เล็งเห็นถึงปัญหาและผลกระทบจากความผันผวนของราคายาง  สมาคม ฯ ยินดีที่จะร่วมมือและประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาราคายาง และสร้างเสถียรภาพราคายาง เพื่อประโยชน์แก่สังคมยางโดยรวม

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด