อาเซียน(ASEAN : The Association of South East Asian Nations) ก่อตั้งเมื่อปี 2510 วัตถุประสงค์ในระยะเริ่มต้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคทางด้านการเมือง ในปี 2546 ผู้นำอาเซียน ลงนามในปฏิญญาบาหลี แสดงเจตนารมณ์การนำอาเซียนไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2563 และในปี 2550 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามรับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC) และยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จตามกำหนดในปี 2558 ปัจจุบันอาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย
AEC มีเป้าหมายเพื่อรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจภายในปี 2558 โดยเป็นตลาดที่มีฐานการผลิตร่วมกัน รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ ตลอดจนการลงทุนและแรงงานฝีมือโดยเสรี ประโยชน์ที่ได้รับจาก AEC คือ 1) ขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคให้สูงขึ้น 2) ลดการพึ่งพาตลาดประเทศที่สาม 3) สร้างอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีโลก 4) เพิ่มสวัสดิการและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น 5) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน และ 6) ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยางพาราอยู่ในกลุ่มของสินค้าที่ถูกเร่งรัดให้เป็นสินค้านำร่องในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมาเลเซียได้รับมอบหมายในการจัดทำ Road Map สินค้ายางพารา โดยปี 2555 ภูมิภาคอาเซียนมีพื้นที่ปลูก ผลิต และส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก โดยพื้นที่ปลูกยางพาราของไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีมากกว่าร้อยละ 60 ส่วนผลผลิตยางสามประเทศประมาณ 7.27 ล้านตัน หรือร้อยละ 66 จากผลผลิตโลก 10.95 ล้านตัน นอกจากนี้ประเทศที่มีศักยภาพในการปลูกยางเพิ่มขึ้นคือ เวียดนาม มีผลผลิต 873,000 ตัน ดังนั้นหากรวมเวียดนามด้วย เป็นสี่ประเทศจะมีผลผลิตมากกว่า 74 % ของโลก สำหรับอุตสาหกรรมยางไทย การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน มีข้อได้เปรียบดังนี้ 1) ไทยเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และได้เปรียบในเรื่อง Logistic 2) ไทยเป็นผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ และ 3) มีสถาบันการศึกษาด้านยางพาราหลายแห่งในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง ส่วนข้อเสียเปรียบดังนี้ 1) การแทรกแซงตลาดยางพาราของภาครัฐ 2) กฎข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอุปสรรคในการเปิดเสรีเรื่องยางพารา และ 3) ต้นทุนLogistic ไทยที่สูงอยู่ สำหรับข้อเสนอแนะในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ 1) ประเทศผู้ผลิตยางพาราทั้งหมดในอาเซียน ต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำ Road Map สินค้ายางพารา เพื่อสร้างประโยชน์แก่กลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด 2) เสริมสร้างความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับกลุ่มผู้ใช้ยางธรรมชาติของโลก โดยเน้นจุดขายยางธรรมชาติเป็น Green Products และ 3) สนับสนุนและเชิญชวนประเทศในอาเซียนทั้งหมดที่เหลือ ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาความร่วมมือยางระหว่างประเทศ
จากข้อมูลดังกล่าว ประมวลได้ว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความสำคัญและจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในการขยายการค้า การลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับโลก สมาคมฯ คาดหวังว่าความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพาราในภาพรวม