history history
 
   
iconบทบาทของไทยในสมาคมยางนานาชาติ [   มีนาคม  2558 ]

 

สมาคมยางนานาชาติก่อตั้งขึ้นที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2514 ด้วยความร่วมมือของสมาคมการค้าจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพารา มีสมาชิกทั้งหมด 20 องค์กร จาก 13 ประเทศ โดยสมาคมยางพาราไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่ม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วย 9 สมาคมการค้า จากประเทศผู้ผลิตยาง 4 สมาคม และประเทศผู้ใช้ยาง 5 สมาคม มีวาระการบริหารงาน 2 ปี วัตถุประสงค์หลักของสมาคมยางนานาชาติคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านการค้ายาง การจัดทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างประเทศด้วยความเป็นธรรม ประสานความร่วมมือด้านการผลิต การค้า และการใช้ยางธรรมชาติระหว่างประเทศผู้ผลิตยางและประเทศผู้ใช้ยาง และการแก้ปัญหาธุรกิจยาง รวมทั้งการพัฒนาการค้ายางอย่างเป็นธรรม สมาคมยางนานาชาติได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการค้ายางระดับโลก ปัจจุบันสำนักงานกองเลขานุการสมาคมยางนานาชาติ ตั้งอยู่ที่สมาคมยางพาราไทย

สมาคมยางนานาชาติมีการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารทุกปี และการประชุมใหญ่สามัญประจำ 2 ปี ในปี 2558 นายสุเมธ สินเจริญกุล รองประธานบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พร้อมด้วย นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ดร.ไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย นางสาวปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมฯ นายประสิทธิ์ เพชรหนูเสด และนายภูมิเมธ จันทวดี เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารและประชุมใหญ่สามัญประจำ 2 ปี ในวันที่ 22 มีนาคม 2558 ณ โรงแรม เพนินซูลา เอ็กเซลซิเออร์ ประเทศสิงคโปร์   โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากตลาดโภคภัณฑ์ยางมาเลเซีย (MRE) ตลาดแลกเปลี่ยนสิงคโปร์ (SGX SICOM)  สมาคมยางยุโรป (RTAE) สมาคมยางญี่ปุ่น (RTAJ) สมาคมยางสิงคโปร์ (RTAS) และสมาคมยางเวียดนาม (VRA) ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำ 2 ปี ได้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยมีมติให้คงคณะกรรมการบริหารชุดเดิมไว้ และแต่งตั้งนายสุเมธ สินเจริญกุล ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมยางนานาชาติ Mr. Howard A. Evans ดำรงตำแหน่งรองประธาน และนายศุภเดช อ่องสกุล รับตำแหน่งเลขานุการบริหาร ต่ออีก 1 วาระ ประจำปี 2558-2559

ในโอกาสเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำ 2 ปี นายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ยางว่า ปี 2557 เป็นปีที่ถือว่าท้าทายมากที่สุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยาง โดยในเดือนมีนาคม 2558 วันนี้ (22 มีนาคม 2558) ราคายางแท่ง TSR20 อยู่ที่ 1.43 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2557 ราคาอยู่ที่ 2.27 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ลดลง 37 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลา 15 เดือน เป็นไปในทิศทางเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยางและน้ำมันมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เจ้าของสวนยางเป็นเกษตรกรรายย่อย ในขณะที่เจ้าของธุรกิจน้ำมันเป็นบริษัทข้ามชาติ การที่ราคายางตกต่ำเช่นนี้ ย่อมทำให้ชาวสวนยางในทุกภูมิภาคของโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก และผู้ใช้ยาง โดยเฉพาะผู้ผลิตยางล้อก็ไม่ได้รับผลประโยชน์มากเท่าไรนักในระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ค้า หรือผู้ใช้ ต้องริเริ่มส่งเสริมราคายางให้เข้าสู่ระดับสมดุลและยั่งยืน เนื่องจากราคาในปัจจุบันไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้หลายภาคส่วนได้รับแรงกดดันให้เปลี่ยนสายอาชีพ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางขาดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมยางนานาชาติ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก จะทำให้อุตสาหกรรมยางผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

            การประชุมสมาคมยางนานาชาติ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมากจากคณะกรรมการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ในนามสมาคมยางพาราไทย ผมขอขอบคุณนายสุเมธ สินเจริญกุล ประธานสมาคมยางนานาชาติ และนายศุภเดช อ่องสกุล เลขานุการบริหารสมาคมยางนานาชาติ ตลอดจนกองเลขานุการสมาคมยางพาราไทย ในการดำเนินการจัดการประชุมเป็นที่เรียบร้อย ผมคาดหวังว่าสมาคมยางนานาชาติจะมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมการค้ายางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางโลกให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด