สถานการณ์ยางพาราปี 2559
คาดว่ามีแนวโน้มทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รัสเซีย ยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
การลงทุนซบเซา การค้าชะลอตัว
รวมทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่าผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพีโลกลดลงเป็น 3.5% ในปีนี้
และ 3.7% ในปี 2559 เศรษฐกิจสหรัฐยังคงสดใส แต่ยุโรปยังมีปัญหากับการผ่อนคลายภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 1.2% ในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 1.4% ในปี 2559 ส่วนจีนจะขยายตัวลดลงอีกในปี 2559 เหลือ 6.3%
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของจีนด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.6% ในปีนี้ และปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.8% ในปี 2559 ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าจะทรงตัวในช่วง
5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเติบโตในระดับต่ำ กอปรกับอุปทานล้นตลาด
เนื่องจากผลผลิตจากกลุ่มโอเปกจะออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ
ซบเซาลงไปด้วย
นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ยังมีปัจจัยด้านผลผลิต ความต้องการใช้และปริมาณส่วนเกินของยางธรรมชาติ
ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางพารา โดยองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ(International
Rubber Study Group) คาดการณ์ว่า ผลผลิตยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นประมาณ
2.9 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12.97 ล้านตันในปี 2559
เนื่องจากยางที่ปลูกไว้ในช่วงราคายางสูง จะเติบโตเต็มที่จนสามารถกรีดได้
ในขณะที่อุปสงค์ยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12.83 ล้านตันในปี
2559 ส่วน The
Rubber Economist คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ยางของโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ
1.9 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2558-2560
เนื่องจากความต้องการใช้ยางของจีนชะลอตัว
ในขณะที่ความต้องการใช้ยางในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียจะเติบโตในระดับต่ำ
คาดว่าผลผลิตยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 3.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 12.53 ล้านตันในปี 2558 และแตะระดับ 13.5 ล้านตันในปลายปี 2560
นอกจากนี้คาดการณ์ว่าอุปสงค์ยางธรรมชาติจะสูงกว่ายางสังเคราะห์ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า
ส่วนอุปทานส่วนเกินยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะแตะระดับ
3.7 ล้านตันในปลายปี 2560 ในขณะที่ The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า สต็อกยางธรรมชาติของโลกจะลดลง 30.5 เปอร์เซ็นต์ และ 49.9
เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ และคาดว่าสต็อกยางโลกอาจลดลงได้ถึง 1
ล้านตัน ในช่วงปี 2559-2560
จากสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ส่งผลให้การผลิตหดตัว การกรีดลดลง และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตามสมาคมยางพาราไทยยังคงมีความเห็นเชิงบวกว่า ยางพารามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี
และมีความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ(ITRC) ตลอดจนภาครัฐไทยมีมาตรการและความพร้อมในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
จึงคาดว่าจะทำให้สถานการณ์ยางพาราปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยโครงการที่น่าจับตามอง
ได้แก่ การก่อตั้งตลาดยางภูมิภาค(ASEAN Regional Rubber Market) เพื่อทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงด้านราคา
และช่วยให้สามารถสะท้อนราคายางที่เป็นธรรม ทําให้กลไกของอุปสงค์อุปทานขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศผู้ผลิตปริมาณ 300,000
ตัน สำหรับการสร้างถนน
ยางกันกระแทกเรือ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2559
โดยสรุป สมาคมฯ
คาดหวังความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร
รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ 3
ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
รวมทั้งประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืนตลอดไป
ในโอกาสศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่
2559 ผมขอส่งความปรารถนาดี
และขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ
และความเจริญในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ