history history
 
   
iconความยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนยาง [   มิถุนายน  2559 ]

 

การที่ยางพาราต้องพึ่งพาตลาดส่งออกในระดับสูง ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถควบคุมราคาได้ กอปรกับต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำในหลายพื้นที่ ซึ่งมีสาเหตุจากพื้นที่เพาะปลูก พันธุ์ยาง และการใช้ปุ๋ย ไม่เหมาะสม เป็นต้น นำมาซึ่งความยากจนและหนี้สินของเกษตรกร เป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย

การแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวอย่างยั่งยืนคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นโดยการปรับปรุงพันธุ์ยาง ปรับปรุงดิน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องและจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกยาง การลดต้นทุนการผลิต การแปลงสวนยางเป็นสวนป่า เพื่อให้ดินกลับมามีสภาพดีขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี และสามารถสร้างรายได้เสริมจากพื้นที่ว่างเปล่าระหว่างร่องยาง เพื่อชดเชยรายได้จากยางพารา การรวมกลุ่มสร้างองค์กรทั้งในรูปของสหกรณ์หรือการรวมกลุ่มต่างๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เชื่อมโยงในลักษณะของคลัสเตอร์ โดยภาครัฐได้จัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราเพื่อความยั่งยืน มีสาระสำคัญคือ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานหรือพนักงานบริษัททั่วไป รวมทั้งเกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิต ภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดหรือภายใต้การตลาดแบบสมัครใจ ผ่านมาตรการและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรแปรรูปยางพารา โครงการควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อลดผลผลิตยางและปลูกแทนด้วยพืชอื่นที่เหมาะสม เช่น ไม้ผลยืนต้น ปาล์มน้ำมัน และเกษตรผสมผสาน โครงการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมการปลูกพืชแซมยาง พืชร่วมยาง และเลี้ยงสัตว์ในสวนยางแก่เกษตรกรรายย่อย โครงการพัฒนาตลาดตามแผนแม่บทปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา ให้มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานยางพารา โดยพัฒนาการเชื่อมโยงทั้งระบบการจัดการสินค้า ข้อมูลข่าวสารการตลาด และระบบการเงิน โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม นอกจากนี้ รัฐบาลควรลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม โดยใช้แนวทางธนาคารต้นไม้ ให้ชาวสวนยางปลูกไม้เศรษฐกิจชนิดอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา และใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา รวมทั้งการกำหนดมาตรการและสัดส่วนการบังคับใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องให้ชัดเจน จะเป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยาง

กล่าวโดยสรุป การสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ประกอบด้วยหลากหลายแนวทาง อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต การจัดการสวนยางจากเชิงเดี่ยวให้เป็นสวนยางแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต การส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรและโรงงานแปรรูปเบื้องต้นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร การพัฒนาระบบและกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านศูนย์เรียนรู้และปราชญ์ชาวบ้าน รักษาเสถียรภาพราคา เป็นต้น

สมาคมยางพาราไทย ตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในภาคต้นน้ำ เราขอสนับสนุนให้เกษตรกรมีการวางแผนและปรับตัวอยู่เสมอ จะทำให้สามารถดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างยั่งยืน แม้ในวันนี้ราคายางจะตกต่ำก็ตาม ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด