ในเดือนมกราคมราคายางยังคงชะลอตัวและมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันตลาดล่วงหน้าต่างประเทศมีการปรับตัวในทิศทางลดลงเช่นกัน สถานการณ์ยางพารายังคงชะลอตัวในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศแห้งแล้ง เข้าสู่ช่วงฤดูการปิดกรีด ปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ในวงกว้างขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตลดลง อีกทั้งสถานการณ์โลกที่อุบัติขึ้นทางด้านชีวภาพในขณะนี้ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลกค่อนข้างมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับไทยในสัดส่วนสูง ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ส่วนด้านราคาน้ำมันมีความผันผวน มีการปรับตัวลดลงโดยราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการปิดแหล่งผลิตและท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศลิเบีย
ในระหว่างวันที่ 13 – 15 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้กำหนดจัดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชระดับนานาชาติ ณ โรงแรมไดมอนด์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มนักวิชาการด้านโรคพืชตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ และมีข้อเสนอแนะให้แต่ละประเทศกลับไปเร่งตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อชนิดไหน สายพันธุ์อะไร โดยข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีความสำคัญในการต่อยอดเพื่อหามาตรการ แนวทางในการรักษาโรคใบร่วงในยางพาราสายพันธุ์ใหม่ต่อไป" ซึ่งขณะนี้ กยท. อยู่ระหว่างเร่งบูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ของเชื้ออย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าเชื้อใดทำให้เกิดโรค โดยจะใช้ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์ เชื้อสาเหตุที่แท้จริง ประมาณ 3 เดือน เมื่อทราบลักษณะจำเพาะของเชื้อแล้ว จะสามารถบอกได้ว่าต้องใช้วิธีใดในการรักษาต้นยางที่ติดเชื้อ และจะสามารถหามาตรการป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้ ในเบื้องต้นทางกยท. ฝากให้เกษตรกรดูแลและบำรุงรักษาสวนยางให้แข็งแรง มีความต้านทานโรค โดยแนะนำเกษตรกรชาวสวนยางให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยาง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ มีแนวโน้มเศรษฐกิจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งเดือนมกรคม 2563เดือนเดียวเงินบาทอ่อนค่าถึง 3.8% ซึ่งประเมินว่ามีโอกาสขยายตัวได้ต่ำกว่ากรอบประมาณการไว้ ซึ่งทั้งนี้จะต้องรอติดตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมและพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายและในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีตามปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังอ่อนแอ แม้จะมีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน การชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น แม้ในช่วงก่อนหน้าเงินบาทที่แข็งค่าจะเป็นโอกาสของไทย เพราะได้ดุลการค้าเพิ่มและให้ภาคเอกชนซื้อเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเข้ามาเพื่อผลิตสินค้า แต่เอกชนรายใดจะลงทุนใหม่ในเมื่อไม่มีคำสั่งสินค้าเพิ่ม และผู้บริโภคภายในประเทศก็ยังไม่ขยายตัว
สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.9 (+3.1%) ในเดือนมกราคม 2563 จากระดับ 47.8 ในเดือนธันวาคม 2562 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงจาก 50.1 ในเดือนธันวาคม 2562 มาอยู่ที่ 49.9 ในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งผลการดำเนินงานของภาคการผลิตยังซบเซาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงทำให้ผลการดำเนินงานซึ่งอยู่ในภาวะชะลอตัวมาตั้งแต่สิ้นปี 2019 ขยายต่อเนื่องมาถึงปี 2020 ในเดือนมกราคม และในส่วนของด้านน้ำมันนั้น โอเปกและพันธมิตรอาจจะมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลให้หลายประเทศมีการควบคุมการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศจีน และอาจจะเลื่อนกำหนดการประชุมให้เร็วขึ้น จากเดิมประชุมในเดือนมีนาคม 2563 ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่น หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินและดีเซลในสหรัฐฯ ชะลอตัวลง
ในเดือนธันวาคม 2562 ไทยส่งออกยางรวมทั้งสิ้น 431,806.75 ตัน เพิ่มขึ้น 3.77 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤศจิกายน และลดลง 3.5 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.81 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤศจิกายน และลดลง 6.3 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ปี2562 ที่ผ่านมานี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 4,529,419.46 ตัน ลดลง 11.77 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 1.9 แสนล้านบาท ลดลง 15.34 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนธันวาคม 2562 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.33 ล้านเส้น ลดลง 1.44 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.35 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.35 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมานี้ ไทยส่งออกยางล้อรวม 135.15 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น จากส่งออกยางรวมปีก่อน (ปี 2562) 131.70 ล้านเส้น (+2.62% yoy) สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 1.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.32 เปอร์เซ็นต์ yoy
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด