รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564
เศรษฐกิจ: แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 -3.5 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการกลับมาขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรกจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และทาง IMF มีการคาดการณ์ว่าวัคซีนต้านโควิดจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกปี 2021 ขยายตัวได้มากถึง 5.5% และสิ่งที่ภาครัฐควรเตรียมการคือชุดมาตรการการเงินและการคลัง (policy package) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้พร้อมออกใช้ได้ทันทีหากจำเป็น
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมกราคม 2564 ปรับลดลงจาก 85.8 เป็น 83.5 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 กำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวช้า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การค้าและการลงทุนของไทยยังมีความไม่แน่นอน จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาและเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและประเทศคู่ค้า สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมกราคม 2564 ส่งออกมูลค่า 587,373.95 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 0.09 และลดลงจากเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.56 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 19,706.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 0.35 แต่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.87 สำหรับเดือนมกราคม 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 14,523.81 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 71.18 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 202.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 85.23...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.6 (-1.01%) จากระดับ 59.2 ในเดือนมกราคม 2564 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ 47.2 (-3.67%) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จาก 49.0 ในเดือนมกราคม 2564 เนื่องด้วยคำสั่งซื้อปรับตัวลดลง เศรษฐกิจภาคการผลิตยังอยู่ในภาวะถดถอยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ประกอบกับอัตราการลดการเก็บสต็อกวัตถุดิบในอัตราที่เร็วขึ้น พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 463 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังตลาดคาดอุปทานส่วนเกินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากกลุ่มโอเปกพลัสที่อาจเพิ่มกำลังการผลิต ตั้งแต่เดือนเมษายน64 เป็นต้นไป เนื่องจากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง โดยการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสเพื่อตัดสินใจกำลังการผลิตจะจัดขึ้นในวันที่ 4 มี.ค.64 และเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 61.50 และ 66.13 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ราคายางโดยภาพรวมมีความผันผวนและแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ ปัจจัยสนับสนุนจากการที่ราคาตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 เดือน และปริมาณยางเริ่มมีน้อยลงเนื่องจากเข้าใกล้ฤดูช่วงพักกรีดยางประกอบกับตลาดหุ้นเอเชียปิดบวกหลังได้รับแรงหนุนเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน อาจมีการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ราคาถุงมือมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกนั้นยังคงตึงตัว ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เงินบาทแข็งค่า สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้เริ่มขึ้นแล้วในหลายประเทศ และคาดว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศอังกฤษได้ฉีดวัคซีน COVID-19 ไปแล้วกว่า 12 ล้านโดส
ในเดือนมกราคม 2564 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 330,883.21 ตัน ลดลง14.35 เปอร์เซ็นต์จากเดือนธันวาคม 2563 ลดลง 24.21 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.62 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.60 เปอร์เซ็นต์จากเดือนธันวาคม 2563 ลดลง 8.33 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมกราคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.46 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 7.26 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.78 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้พยายามกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาด โดยการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำยางสด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชะลอการขาย เก็บรวบรวมน้ำยางสดไว้ รอจังหวะที่ตลาดมีความต้องการ เช่น ในฤดูปิดกรีดที่ราคายางสูงขึ้น หรืออยู่ในระดับราคาที่สถาบันเกษตรกรเห็นว่าเหมาะสมแล้วนำออกมาขาย ซึ่ง กยท. ได้จัดหาอุปกรณ์แทงค์เก็บน้ำยางสดพร้อมสารเคมี เพื่อยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้คงคุณภาพไว้ได้ 1-2 เดือน และสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายสามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน เบื้องต้นดำเนินการแล้วในจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมและรับแทงค์รวบรวมน้ำยางสดแล้วกว่า 90 ถัง
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม 2564 มีทั้งสิ้น 148,118 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 85,797 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจำนวน 62,321 คัน ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมกราคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 55,208 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2563 ร้อยละ 46.96 เพราะลูกค้ากังวลการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|