รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤษภาคม 2564
เศรษฐกิจ: แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระจายและเร่งฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง นอกจากนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา หลังจากรัฐบาลได้อัดฉีดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทางด้าน IMF มีการปรับคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของ GDP โลก ขึ้นเป็น +6.0% จากเดิมที่คาดไว้ +5.5% ซึ่งจะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ สาธารณรัฐประชาชนจีนปรับเพิ่มจาก +8.1% เป็น 8.4 และสหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มจาก +5.1% เป็น +6.4% ส่วนประเทศไทยนั้น ทาง IMF ได้ประเมินว่า GDP ปีนี้จะเติบโต +2.6% ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดไว้ +2.7%
เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวและฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและครัวเรือนในประเทศ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า โดยอัตราเงินเฟ้อประเทศใน ไตรมาสที่1/2564 อยู่ที่ -0.5% (อ้างอิง: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเร่งดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ควบคุมการระบาดไม่ให้ยืดเยื้อ อีกทั้ง ความต่อเนื่องของมาตรการและนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและธุรกิจให้มีสภาพคล่อง การลดภาระหนี้ และการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอัตราเดิมที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ในไตรมาสที่1/2564
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนเมษายน 2564 ปรับตัวลดลงจาก 87.3 เป็น 84.3 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากมาตรการควบคุม COVID-19 ของภาครัฐมีการเข้มงวด และ Work from home มากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันภาคการส่งออกได้รับผลเชิงบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนเมษายน 2564 ส่งออกมูลค่า 656,592.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 6.93 แต่ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 8.69 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 660,063.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 22.87 แต่ลดลงจากจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 6.78 ดุลการค้าไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 3,470.51 ล้านบาท เปลี่ยนจากเดือนเมษายน 2563 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 76,815.11 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนพฤษภาคม 2564 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 62.1 (+2.64%) จากระดับ 60.5 ในเดือนเมษายน 2564 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงจาก 50.7 ในเดือนเมษายน 2564 มาอยู่ที่ 47.8 (-5.72%) ในเดือนเมษายน 2564 ภาคการผลิตปรับตัวลดลง ผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลงเช่นเดียวกับกิจกรรมการซื้อและการจ้างงาน อีกทั้งความเชื่อมั่นในธุรกิจปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรง ในขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกของอุปสงค์จากลูกค้าต่างประเทศที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 484.3 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ปรับลดลง อีกทั้ง ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในยุโรปและสหรัฐฯ ในช่วงวันหยุดยาวในวัน Memorial Day และคาดว่าการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสยังคงมีมติเดิมที่จะทยอยเพิ่มการผลิต 350,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. และเพิ่มอีก 441,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และเบรนท์เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 66.32 และ 69.63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนพฤษภาคม 2564 ปริมาณยางโดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเปิดกรีดยาง แต่ยังคงออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทย ราคายางภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยจากผู้ซื้อภายในประเทศมีความต้องการยางในการส่งมอบ ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป อีกทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนมีการเติบโตและขยายตัวดี ส่วนตลาดล่วงหน้าต่างประเทศแนวโน้มอยู่ในทิศทางขาขึ้น อาจมีการย่อตัวในระยะสั้นเพื่อทำกำไร ปัจจัยกดดันยังคงมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานกรีด ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในการผลิตชิป ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ ทั้งในประเทศและทั่วโลกหยุดการผลิตชั่วคราวเป็นระยะๆ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ราคาน้ำมันมีความผันผวน รวมถึงค่าระวางเรือสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง
ในเดือนเมษายน 2564 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 388,510.29 ตัน ลดลง 19.65 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 10.43 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.02 หมื่นล้านบาท ลดลง 15.97 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 33.91 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนเมษายน 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.63 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 71.8 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.27 เปอร์เซ็นต์ yoy
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 104,355 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ที่ 322.30% และลดลงจากเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 35.79% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 59,684 คัน (57.19% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนเมษายน 2564 จำนวน 44,671 คัน เท่ากับร้อยละ 42.81 ของยอดการผลิตทั้งหมด ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,132 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 21.76 และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 570,188 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – เมษายน 2563 ร้อยละ 19.19
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|