รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนเมษายน 2565
การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน มาตรการคว่ำบาตร ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน และมาตรการเข้มงวดที่ควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในจีน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าการคาดการณ์ โดย IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จาก 4.4% ลงสู่ 3.6% ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 ลงเหลือ 3.5% จาก 4% เช่นกัน แม้การค้าและการเงินของเอเชียได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในวงจำกัด แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้อาจได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าของเอเชีย การชะลอตัวของจีน อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟดแล้วราว 3 เท่า ทำให้เฟดเล็งเห็นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนพ.ค. นี้ ในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อในเอเชียเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จะสร้างความท้าทายให้กับบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย เนื่องจากหนี้สินในรูปสกุลเงินดอลลาร์ของเอเชียนั้นมีมูลค่ามหาศาล
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 86.7 เป็น 89.2 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว นโยบายเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการ Test & Go ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 และผู้ประกอบการมีการเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐดูแลอัตราเงินเฟ้อ ออกมาตรการดูแลราคาพลังงานและเชื้อเพลิง ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เร่งแก้ไข ปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 43.8 มาอยู่ที่ระดับ 45.7
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมีนาคม 2565 ส่งออกมูลค่า 922,313.30 ล้านบาท (28,859.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 28.69 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาร้อยละ 19.65 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 887,353.20 ล้านบาท (27,400.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 26.85 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาร้อยละ 14.26 ดุลการค้า เดือนมีนาคม 2565 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 34,960.10 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนเมษายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.2 จากระดับ 58.8 ในเดือนมีนาคม 2565 การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีจากเดือนก่อน ซึ่งมีการขยายตัวด้านอุปสงค์และมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวภาคการผลิต และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 51.9 จากระดับ 51.8 ในเดือนมีนาคม 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์โดยรวมที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่ต้นทุนวัตถุดิบ เชื้อเพลิง และต้นทุนการจัดส่งสินค้าที่สูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาระต้นทุนที่ผู้ผลิตต้องแบกรับเพิ่มขึ้น
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4.8 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนและอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับเดือนก่อน เนื่องด้วยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียมีการปรับลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาด COVID-19 ของจีนยังคงกดดันตลาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศซบเซาลง สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 105.36 และ 107.59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนเมษายน 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียวมีการปรับตัวลง ส่วนความต้องการในตลาดโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาสที่ 2/2565 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีฝนตกหนัก ปัญหาค่าระวางเรือที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งปัญหาปุ๋ยเคมีที่ขาดแคลนและมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกยท. ได้แนะแนวทางแก้ไขโดยให้ปรับลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลง และให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามหลักวิชาการร่วม และล่าสุดทางกยท. จะขับเคลื่อนมาตรการ ZERO CARBON ในภาคการเกษตร โดยในปี 2565 จะทำสวนต้นแบบของ กยท. เพื่อเตรียมการเข้าสู่มาตรการ CBAM (ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน) ในปี 2569 ในเดือนมีนาคม 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 448,122.28 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.49 หมื่นล้านบาท สำหรับภาคยางล้อ ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 13.8 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 2.04 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 172,671 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ร้อยละ 10.93 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 85,538 คัน (49.54% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 87,133 คัน (50.46% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 87,245 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 2565 ที่ 17.12% เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีก่อน 9.1%
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|