รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤษภาคม 2565
การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง ยังคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์สงครามในยูเครนการ Lockdown ในจีน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังตอกย้ำการเติบโต สำหรับหลายประเทศ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด โดยทาง IMF อาจมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มาก ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2565 ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เนื่องจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อว่า กนง.ได้ประเมินจากสถานการณ์ปัจจัยภายนอกและสถานการณ์ต่างประเทศด้วย เพราะหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่างกันเกินไปจะมีผลต่อการไหลออกของเงินทุนได้ ขณะเดียวกันก็ยังต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนเมษายน 2565 ปรับตัวลดลงจาก 89.2 เป็น 86.2 เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กำลังซื้อภายในประเทศมีการชะลอตัวลงจากปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน อีกทั้ง วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้การผลิตลดลง ปัญค่าระวางสูง จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐดูแลอัตราเงินเฟ้อ เร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 43.8 มาอยู่ที่ระดับ 45.7
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนเมษายน 2565 ส่งออกมูลค่า 782,146.10 ล้านบาท (23,521.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2564 ร้อยละ 19.27 แต่ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 15.20 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 856,252.57 ล้านบาท (25,429.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2564 ร้อยละ 21.49 แต่ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ที่ผ่านมาร้อยละ 7.19 ดุลการค้า เดือนเมษายน 2565 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 74,106.47 (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.0 จาก 59.2 ในเดือนเมษายน 2565 การปรับตัวลดลงของดัชนีเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งมีอัตราของการเติบโตชะลอตัวเนื่องจากความล่าช้าของห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนแรงงานตลอดจนการเติบโตของอุปสงค์ช้าลง ซึ่งมีปัจจัยกดดันจากพลังงานที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างและค่าขนส่งเพิ่ม ซึ่งส่งผลให้ภาระต้นทุนของบริษัทปรับสูงขึ้นเช่นกัน และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ที่ระดับ 51.9 ระดับเดียวกันกับเดือนเมษายน 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยยังทรงตัว ความเชื่อมั่นโดยรวมยังคงเป็นบวก แต่ความเชื่อมั่นธุรกิจลดลงด้วยความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตในอีก 12 เดือนข้างหน้า
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 2565 ปรับตัวลดลงกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนในกรอบแคบต่อเนื่อง โดยตลาดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจีนประกาศยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 31พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 114.67 และ 122.84 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนพฤษภาคม 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น มีการปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดล่วงหน้าโตเกียวมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดเดือนจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส่งผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และยังได้รับอิทธิพลจากพายุไซโคลนที่เคลื่อนตัวในอ่าวเบงกอลเข้าปกคลุมชายฝั่งประเทศอินเดียในช่วงต้นเดือน ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีฝนตกหนัก ปัญหาค่าระวางเรือที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังคงต้องการยางเพื่อส่งมอบ รวมถึงสัญญาณดีที่ยอดขายรถยนต์ในกลุ่มพลังงานใหม่ หรือ New Energy Vehicles (NEV) ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการยางเพิ่มขึ้น (NEV คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ซึ่งรวมหมดทั้งแบบไฮบริด (HEV), ปลั้กอิน-ไฮบริด (PHEV), ไฟฟ้าล้วน (BEV) และฟิวเซลล์ (FEV) เป็นการนิยามขึ้นใหม่ของรัฐบาลจีน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ได้ประกาศจุดยืนในงานประชุม World Rubber Summit 2022 ณ ประเทศสิงคโปร์ว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลกส่งผลต่อผลผลิตภาคการเกษตร ไม่เว้นแม้แต่ยางพารา ซึ่งได้ตระหนักถึงในเรื่องนี้โดยได้วางเป้าเป็นผู้นำในการผลักดันนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนจนนำไปสู่การจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันและโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทย ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันปุ๋ยเคมีการขาดแคลนอย่างหนักและราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมทุกภาคส่วนไม่เพียงเฉพาะยางพาราเท่านั้น ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางของเกษตรกรเช่นกัน ทั้งนี้ ทาง กยท. ได้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวแล้ว ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 375,975.24 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.18 หมื่นล้านบาท สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนเมษายน 2565 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.8 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 1.88 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 117,786 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2565 ร้อยละ 31.79 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 58,671 คัน (49.81% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนเมษายน 2565 จำนวน 59,115 คัน (50.19% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 63,427 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 27.30%
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|