รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565
เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนั้น ทั่วโลกต่างมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย และให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารต่อไป โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงอาหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าเกษตรและไฮโดรคาร์บอนในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาอาหารและพลังงานในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของ COVID-19 นั้น เนื่องจากการหยุดชะงักด้านอุปทาน และภาวะของสงครามในยูเครน ล่าสุดด้านตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 50 bps หรือ 0.5% ในการประชุมเดือน ธ.ค. หลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% มา 4 ครั้งติดต่อกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงติดตามสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยง ทั้งเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และสงคราม พร้อมย้ำนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 3.7และ 3.9 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.1 เป็น 93.5 เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น ภาคการก่อการสร้างมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลง และปัญหาการขาดแคลนชิปมีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเผชิญปัญหาต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.9 จากระดับ 47.7 ในเดือนก่อนหน้า สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนตุลาคม 2565 ส่งออกมูลค่า 801,273.42 ล้านบาท (21,772.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 6.66 และลดลงจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 9.80 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 832,874.81 ล้านบาท (22,368.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 9.07 แต่ลดลงจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 10.42 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 31,601.39 ล้านบาท (12,359.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 47.7 จากระดับ 50.4 ในเดือนตุลาคม 2565 เนื่องด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดอกบี้ยที่สูงขึ้น ความกังวลภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น มีการชะลอการซื้อวัตถุดิบและปรับลดการผลิตลง และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.1 จากระดับ 51.6 ในเดือนตุลาคม 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัวในอัตราที่ช้าลง เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง ต้นทุนของวัตถุดิบ พลังงาน และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น การเติบโตเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในแนวโน้มของภาคการผลิตลดลง จากผลกระทบภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 2565 ปรับตัวลดลง7.9 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลง เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว และความต้องการใช้น้ำมันดิบของจีนปรับลดลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 80.55 และ 85.43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ภาพรวมปรับตัวลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่ราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียวยังคงผันผวน สภาพภูมิอากาศพื้นที่ทางภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ส่งผลให้ปริมาณยางเริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันสภาพภูมิอากาศทางใต้ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจทำให้ผลผลิตปรับตัวลดลง และยังต้องติดตามเฝ้าระวังพร้อมหาแนวทางป้องกันและรักษาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ในปัจจุบันสังคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำมาเชื่อมโยงไว้กับกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดในโลกยุคใหม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการด้านความยั่งยืนเป็นสำคัญ เนื่องจากประชากร 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตร ในช่วงระหว่างวันที่ 28 – 29 พ.ย.65 ที่ผ่านมา ทาง FSC Asia Pacific ได้จัดงานสัมมนา Forest Stewardship Council Asia Pacific Business Forum 2022 “Connecting Markets with Forests” ซึ่งเป็นความร่วมมือส่งเสริมด้านการรับรองมาตรฐาน FSC แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และตลาดไม้ยางพาราระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาง ยังคงต้องติดตามสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอัตราการผลิตยางล้อของบริษัทในประเทศจีนยังคงที่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ได้มีการประกาศ Lockdown รอบใหม่ และมีการชะลอคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อต่างประเทศ อีกทั้ง ยอดขายล้อยางยังคงอยู่ในระดับต่ำ ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 420,857 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.23 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 9.17 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 1.76 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 170,717 คัน ลดลง 4.75%จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 10.83% (YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 97,832 คัน (57.31% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนตุลาคม 2565 จำนวน 72,885 คัน (42.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,618 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 12.86 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 0.24
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|