รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนธันวาคม 2565
เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดย 3 เศรษฐกิจใหญ่ของโลก (สหรัฐ ยุโรป และจีน) มีแนวโน้มจะชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะเดียวกัน หลายประเทศได้ให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างต่อไป หากไม่มีการเตรียมพร้อมหรือปรับตัว ทั้งนี้ ปัจจัยลบในเรื่องเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งผลให้เห็น 2 เดือนผ่านการส่งออกที่ขยายตัวเป็นลบ แต่ยังมีปัจจัยบวก คือ ภาคการท่องเที่ยว ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง การเปิดประเทศของจีน การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงติดตามสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยง ทั้งเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และสงคราม พร้อมย้ำนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 3.7และ 3.9 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวลดลงจาก 93.5 เป็น 92.6 เนื่องจากภาคผลิตชะลอลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน แต่มีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและการขยายตัวต่อเนื่อง ราคาน้ำมันปรับตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 49.9 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 ส่งออกมูลค่า 846,190.48 ล้านบาท (22,308.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ร้อยละ 7.67 และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาร้อยละ 5.61 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 907,142.65 ล้านบาท (23,650.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ร้อยละ 20.63 และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาร้อยละ 8.92 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 60,952.17 ล้านบาท (ขาดดุล 1,342.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 46.2 จากระดับ 47.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ความต้องการของลูกค้าและคำสั่งซื้อใหม่ลดลง เนื่องด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อลดลง ในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 51.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการผลิตเพื่อส่งมอบคำสั่งซื้อก่อนหน้าให้เสร็จสิ้น ในขณะเดียวกันความกดดันด้านราคาก็ปรับตัวลดลงอีกครั้ง กลุ่มบริษัทพยายามควบคุมต้นทุนแรงงาน
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ปรับตัวลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลง เนื่องจากตลาดกังวลอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลกที่ยังไม่แน่นอน และหลายประเทศเริ่มพิจารณาการจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวจีน ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 78.40 และ 82.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนธันวาคม 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ภาพรวมปรับตัวในกรอบแคบใกล้เคียงจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนราคาล่วงหน้าต่างประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น สภาพภูมิอากาศพื้นที่ทางภาคเหนือ-วันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว แต่ในขณะเดียวกันสภาพภูมิอากาศทางใต้ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ จีนผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่า ความกังวลการแพร่ระบาด COVID-19 ราคาน้ำมันลดลง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางยังคงต้องติดตามสถาณการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ตามดัชนีภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าหลักๆ คือ สหรัฐฯ จีน ยุโรป มีแนวโน้มของเศรษฐกิจถดถอย เดือนพฤศจิกายน 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ จำนวน 435,134 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.29 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 10.2 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.91 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 190,155 คัน เพิ่มขึ้น 11.39% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ร้อยละ 15% (YoY) จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม–พฤศจิกายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,724,909 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 107,345 คัน (56.45% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2565 จำนวน 82,810 คัน (43.55% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,284 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2565 ร้อยละ 5.67 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 4.79 เพราะมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|