E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
 
  history  
     
 
ข้อบังคับสมาคมยางพาราไทย
 
     
  iconหมวด 1 : ข้อความทั่วไป icon  
 

 

ข้อ 1. สมาคมนี้ให้ชื่อว่า  "สมาคมยางพาราไทย"  มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า  "ไท่กว๋อเซี่ยงเจียวจุ่งห้วย"  เขียนเป็นภาษาจีน ดังนี้  "泰国橡胶协会"  มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า  "เดอะไทยรับเบอร์แอสโซซิเอชั่น"  เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้  "THE THAI RUBBER ASSOCIATION"  ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า  "สมาคม"

ข้อ 2 ในข้อบังคับนี้

  "สมาคม" หมายความว่า สมาคมยางพาราไทย
  "สมาชิก" หมายความว่า สมาชิกทุกประเภทของสมาคมยางพาราไทย
  "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการสมาคมยางพาราไทย
  "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการสมาคมยางพาราไทย และให้หมายความรวมถึงนายก อุปนายก เลขาธิการและเหรัญญิกด้วย
  "นายกสมาคม" หมายความว่า นายกสมาคมยางพาราไทย
  "อุปนายก" หมายความว่า อุปนายกสมาคมยางพาราไทย
  "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย
  "เหรัญญิก" หมายความว่า เหรัญญิกสมาคมยางพาราไทย
  "ผู้จัดการ" หมายความว่า ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทย
  "เลขานุการสมาคม" หมายความว่า เลขานุการฝ่ายบริหารสมาคมยางพาราไทย

ข้อ 3 สมาคมมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ เลขที่ 45 และ 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

ข้อ 4. ตราของสมาคมมีเครื่องหมายรูปช้างเอราวัณ 

ข้อ 5. สมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมการประกอบการเกษตร ผลิต ค้า ส่งออก ยางพารา

(2) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรค ข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการค้ายาง สอดส่อง และติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด การค้า ทั้งภายใน และภายนอกประเทศเกี่ยวกับสินค้ายางพารา เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การค้ายางพารา

(3) ทำการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบการ เกษตร ผลิต ค้า ส่งออก ยางพารา แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ในทางวิชาการตลอดจน ข่าวสารการค้ายางพารา

(4) ขอสถิติหรือเอกสารหรือขอทราบข้อความใดๆ ของสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการเกษตร ผลิต ค้า ส่งออกยางพารา ทั้งนี้โดยความ ยินยอมของสมาชิก

(5) ส่งเสริมคุณภาพสินค้ายางพาราให้เข้ามาตรฐานสากล

(6) ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการเกษตร ผลิต ค้าส่งออกยางพารา

(7) ทำความตกลง หรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติ หรืองดเว้นปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบการเกษตร ผลิต ค้า ส่งออกยางพารา ได้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย

(8) ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบการเกษตร ผลิต ค้า ส่งออกยางพารา

(9) ไม่ดำเนินการในทางการเมือง

(10) ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการซื้อ หรือให้โดยเสน่หา หรืออุทิศให้เพื่อเป็นที่ทำการหรือดำเนินกิจการของสมาคม

(11) จัดทำและจำหน่ายจ่ายแจกวารสารและสื่อต่างๆเกี่ยวกับยางพารา

(12) จัดกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้าสมาคมฯ เช่นจัดงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ และการแข่งขันกีฬาเป็นต้น

(13 ) จัดประชุม อบรม สัมมนา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

(14) เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กร สมาคมอื่นใดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(15) บริจาคแก่หน่วยงาน องค์กร สมาคมอื่นใดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(16) รับค่าบำรุงรายปี ค่าบำรุงพิเศษ เงิน บริจาคโดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันใด ๆ และอื่น ๆ จากสมาชิกและบุคคลทั่วไป

(17) อื่น ๆ ตามมติที่ประชุมใหญ่มอบหมายให้กระทำได้

ข้อ 6. ให้ผู้จัดการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมตามวัตถุประสงค์ภายใต้การ ควบคุมกำกับของคณะกรรมการ

 
   
  iconหมวด 2 : สมาชิกและการสมัครเป็นสมาชิกicon  
 

 

ข้อ 7. สมาชิกแบ่งออกเป็นสี่ประเภท ดังนี้

(1) สมาชิกสามัญ  ได้แก่ นิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการโรงงานผลิตและส่งออกยางพารา ซึ่งมีกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 1,000ตัน/เดือน มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งคณะกรรมการ โดยต้องเป็นสมาชิกวิสามัญมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี ทั้งนี้เว้นแต่เป็นสมาชิกสามัญเดิม

(2) สมาชิกวิสามัญ  ได้แก่ นิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการโรงงานผลิตและหรือส่งออกยางพารา ไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/เดือนแต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งคณะกรรมการ

(3) สมาชิกสมทบ  ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบกิจการโรงานผลิต ผู้ประกอบการค้า และผู้ส่งออกยางพารา แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งคณะกรรมการ

(4) สมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้แก่นายกกิตติมศักดิ์ ผู้ทรงเกียรติซึ่งมีความสนใจในการค้ายางพารา หรือผู้เชี่ยวชาญในกิจการยางพารา หรือ องค์กรยางพาราทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เชิญเป็นสมาชิก

ข้อ 8. ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญและ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ จะต้องยื่นใบสมัครตามแบบของ สมาคมต่อเลขาธิการ โดยมี อย่างน้อย 2 บริษัทรับรอง และให้เลขาธิการเสนอใบสมัครต่อคณะกรรมการในการประชุม ครั้งแรกหลังจากได้รับใบสมัครดังกล่าว

        การรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้นให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ซึ่งจะลงมติโดยวิธีลงคะแนนลับและ มีคะแนนเสียงสนับสนุน ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม

ข้อ 9. ในการเป็นสมาชิกของสมาคม

(1)  สมาชิกสามัญ  จะต้องชำระชำระค่าบำรุงรายปีแก่สมาคมเป็นเงินจำนวนสองหมื่นบาท (20,000.-บาท)      ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเลขาธิการ

        ผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญจะได้สิทธิแห่งสมาชิกภาพเมื่อได้ ชำระค่าบำรุงรายปีแล้ว

(2)  สมาชิกวิสามัญ  จะต้องชำระค่าชำระค่าบำรุงรายปีแก่สมาคมเป็นเงินจำนวนหนึ่งหมื่นห้าพันบาท      (15,000.- บาท)ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้รับเป็นสมาชิกจากเลขาธิการ      ผู้สมัครเป็นสมาชิกวิสามัญ จะได้สิทธิแห่งสมาชิกภาพเมื่อได้ชำระค่าบำรุงรายปีแล้ว

(3)  สมาชิกสมทบ  จะต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าแก่สมาคมเป็นเงินจำนวนสามหมื่นบาท (30,000      บาท) และชำระค่าบำรุงรายปีแก่สมาคมเป็นเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาท(10,000 บาท)      ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้รับเป็นสมาชิกจากเลขาธิการ
ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบจะได้สิทธิแห่งสมาชิกภาพเมื่อได้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงรายปีแล้ว

(4)  สมาชิกกิตติมศักดิ์  ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงรายปี
นอกจากค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงรายปีแล้วสมาชิกจะต้องชำระค่าบำรุงพิเศษ      ซึ่งคำนวณตามปริมาณยางพาราที่สมาชิกส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศในแต่ละเดือน      ในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกินตันละสามบาท สำหรับสมาชิกสามัญ,วิสามัญและสมทบ      ทั้งนี้จะต้องชำระภายในวันที่ 15 วัน หลังจากที่ได้รับแจ้ง

ข้อ 10. สมาชิกทุกประเภทจะขาดจากสมาชิกภาพเมื่อ

(1) เลิกประกอบการผลิตหรือการค้ายางพารา

(2) ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อคณะกรรมการ แต่ต้องชำระค่าบำรุงรายปี ค่าบำรุงพิเศษและหนี้ใด ๆ (ถ้ามี) แก่สมาคมให้เสร็จเสียก่อน

(3) ถูกคัดชื่อออกโดยเหตุต่อไปนี้

ก.  ละเมิดข้อบังคับ หรือระเบียบของสมาคม
ข.  ล้มละลาย มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ
ค.  กระทำการใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่การผลิต และการค้ายางพารา
ง.  ไม่ชำระค่าบำรุงรายปีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป และหรือไม่ชำระค่าบำรุงพิเศษเกินกว่า 12 เดือนในกรณีสมาชิกสามัญ หรือเกินกว่า 6 เดือน ในกรณีของสมาชิกวิสามัญหรือสมาชิกสมทบนับจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเหรัญญิกและไม่มีเหตุผลประกอบอันควรที่จะได้รับการยกเว้น ทั้งนี้โดยมติของคณะกรรมการบริหารสมาคมยางพาราไทย
จ.  เมื่อกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สมาคม และคณะกรรมการ มีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม

ข้อ 11. ก่อนที่คณะกรรมการมีมติลงโทษสมาชิกตามข้อ 10 (3) จ ให้เลขาธิการ บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังสมาชิก ณ สถานที่ประกอบการของสมาชิกนั้น โดยแจ้งให้ทราบถึงข้อกล่าวหาพอสมควร พร้อมทั้งวัน เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการก่อนการประชุมอย่างน้อยเจ็ดวัน ทั้งนี้สมาชิกที่ถูกกล่าวหามีสิทธิเข้าประชุมเพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่อที่ประชุม

ข้อ 12. สมาชิกสามัญผู้ไม่ค้างค่าบำรุงรายปีและไม่ค้างค่าบำรุงพิเศษเกินกว่า 6 เดือนนับจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรมีสิทธิเข้าประชุมใหญ่ และมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งคณะกรรมการ

ข้อ 13. สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์มีสิทธิเข้าประชุมใหญ่ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งคณะกรรมการ

ข้อ 14. สมาชิกมีหน้าที่ ดังนี้

(1) เคารพต่อข้อบังคับ และระเบียบของสมาคมโดยเคร่งครัด
(2) รักษา และเทิดไว้ซึ่งเกียรติของสมาคม
(3) ส่งเสริมกิจการของสมาคมให้เจริญก้าวหน้าโดยทุกวิถีทาง
(4) ชำระค่าบำรุงรายปี ค่าบำรุงพิเศษ และหนี้อื่น ๆ ที่สมาชิกมีต่อสมาคม

ข้อ 15. สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกสบทบมีสิทธิตรวจสอบการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคม โดยทำหนังสือและยื่นต่อคณะกรรมการ

 
     
  iconหมวด 3 : คณะกรรมการicon  
 

 

ข้อ 16. ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคล ซึ่งที่ประชุมใหญ่สามัญเลือกจากสมาชิกสามัญไม่ต่ำกว่าเจ็ดคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน เป็นผู้ควบคุมกำกับการดำเนินกิจการของสมาคมตามวัตถุประสงค์ ในข้อ 5 นี้

ข้อ 17. ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้กิจการของสมาคมลุล่วงตามวัตถุประสงค์

ข้อ 18. คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะตามแต่ จะเห็นสมควรเพื่อมอบอำนาจและหน้าที่ให้ดำเนินการใด ๆ ภายใต้การควบคุมกำกับของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการ จะต้องรายงานการดำเนินงานให้คณะกรรมการทราบเป็นกรณี ๆ และต้องปฏิบัติตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

ข้อ 19. ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลภายนอกเป็นผู้อุปถัมภ์หรือที่ ปรึกษา เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำแก่สมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการดำเนินกิจการสมาคม โดยผู้อุปถัมภ์หรือที่ปรึกษาจะมีวาระตามวาระของคณะกรรมการชุดดังกล่าว

ข้อ 20. ให้คณะกรรมการมีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสมาคม   เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินธุรการอันเป็นกิจการภายในของสมาคมตามที่จะเห็นสมควร พร้อมทั้งมีอำนาจกำหนดค่าตอบแทนด้วย

ข้อ 21. ให้สมาชิกสามัญที่มาประชุมใหญ่ประจำปีเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการโดยถือเสียงข้างมาก

ข้อ 22. ให้คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งตาม ข้อ 16 เลือกตั้งระหว่างกันเอง เพื่อดำรงตำแหน่ง ดังนี้

  (1) นายกสมาคม
  (2) อุปนายกคนที่ 1
  (3) อุปนายกคนที่ 2
  (4) อุปนายกคนที่ 3
  (5) อุปนายกคนที่ 4
  (6) เลขาธิการ
  (7) เหรัญญิก
  (8) กรรมการ ฝ่ายคุณภาพ วิจัยและพัฒนา
  (9) กรรมการ ฝ่ายขนส่ง ประกันภัย
(10) กรรมการ ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม
(11) กรรมการ ฝ่ายเกษตรกรรม
(12) กรรมการ ฝ่ายสัญญา ราคา และการตลาด

ตลอดจนตำแหน่งอื่นที่เห็นสมควร กรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี

ข้อ 23. ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการที่เหลือ แต่งตั้งสมาชิกสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

ข้อ 24. นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัวเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดจากสมาชิกภาพตาม ข้อ 10
(4) ขาดคุณสมบัติตาม ข้อ 16
(5) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม
(6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
(7) ขาดการประชุมกรรมการสามครั้งติดต่อกัน ก็ให้พ้นสภาพกรรมการโดยปริยาย
(8) เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(9) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(10) ต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เเป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

ข้อ 25. ให้เลขาธิการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง โดยส่งคำบอกกล่าวให้กรรมการทราบถึงวัน เวลา สถานที่ และกิจการที่จะประชุม เมื่อนายก อุปนายก หรือกรรมการสองคนเห็นสมควร อาจมอบหมายให้เลขาธิการเรียกประชุมคณะกรรมการเป็นกรณีพิเศษได้

ข้อ 26. การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสองของคณะกรรมการที่เลือกได้ในปีนั้นๆ จึงจะครบองค์ประชุม ในกรณีกรรมการเข้าประชุมด้วยตนเองไม่ได้ ให้มอบอำนาจตั้งตัวแทนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าประชุม

ข้อ 27. เมื่อได้รับมอบหมายตามข้อ 25 แล้ว ให้เลขาธิการนัดประชุมภายในสี่วัน นับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย โดยส่งคำบอกกล่าวให้กรรมการทราบถึงเวลา สถานที่ประชุม พร้อมทั้งแจ้งระเบียบวาระการประชุม และชื่อของผู้ขอให้เรียกประชุม

ข้อ 28. มติของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการหนึ่งคนมีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 
     
  iconหมวด 4 : การประชุมใหญ่icon  
 

 

ข้อ 29. การประชุมใหญ่ของสมาคมได้แก่ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 30. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีการบัญชี ตามข้อ 2 หมวด 9 โดยเลขาธิการเป็นผู้บอกกล่าวให้สมาชิกทราบถึงกำหนดวัน เวลา สถานที่ และกิจการที่ประชุมล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน

ข้อ 31. คณะกรรมการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ โดยแจ้งให้สมาชิกทราบถึงวัน เวลา สถานที่ และกิจการที่จะประชุมล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน ซึ่งนายก หรืออุปนายกอาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ โดยส่งหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า หนึ่งวันทำการ ให้ถือเป็นหลักฐานเพียงพอ

ข้อ 32. สมาชิกสามัญจำนวนไม่ต่ำกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อกันทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ โดยต้องระบุความมุ่งประสงค์ที่จะประชุม เมื่อคณะกรรมการได้รับหนังสือแล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือบอกกล่าว นัดประชุมใหญ่วิสามัญ โดยระบุวัน เวลา สถานที่ประชุม และกิจการที่จะประชุมล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน

ข้อ 33. ให้นายกเป็นประธานที่ประชุมใหญ่ ในกรณีที่นายกไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจมาประชุมได้ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าอุปนายกไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจมาประชุมได้ ให้สมาชิกสามัญ หรือผู้แทนซึ่งมาประชุมเลือกสมาชิกสามัญ หรือผู้แทนคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ 34. ในการประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญ หรือผู้แทนมาเข้าประชุม ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 35. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีดังนี้

(1) รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
(2) รับทราบรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสมาคมในรอบปีที่ผ่านมา
(3) พิจารณาอนุมัติงบดุล
(4) เลือกตั้งกรรมการ (ในปีที่ครบวาระ)
(5) เลือกแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน
(6) เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

 
     
  iconหมวด 5 : เลขาธิการและเหรัญญิกicon  
 

 

ข้อ 36. นอกจากจะได้กล่าวไว้ในที่อื่นของข้อบังคับนี้แล้ว เลขาธิการมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ดูแล ปฏิบัติการในงานอันปรกติธรรมดาของสำนักงาน
(2) จดบันทึกรายงานการประชุมใหญ่, การประชุมคณะกรรมการ เก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม
(3) จัดทำทะเบียนสมาชิก
(4) ปฏิบัติงานต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย

ข้อ 37. ให้เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการทำบัญชี รักษาเงิน รับเงิน และจ่ายเงินตามที่คณะกรรมการมีคำสั่งเห็นชอบ และให้ความสะดวกแก่ผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบสรรพบัญชี ตลอดถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง

 
     
  iconหมวด 6 : การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ icon  
 

 

ข้อ 38. ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกได้ แต่โดยมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญ หรือผู้แทนซึ่งมาประชุม

 
     
  iconหมวด 7 : การตั้งผู้แทน icon  
 

 

ข้อ 39. สมาชิกสามัญจะมอบอำนาจให้ผู้ใดเข้าประชุมออกเสียงในที่ประชุมใหญ่แทนตนก็ได้ โดยการมอบอำนาจเป็นหนังสือระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจ และข้อความตั้งผู้รับมอบอำนาจ เพื่อการประชุมครั้งคราวใด และให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นหนังสือนั้นต่อเลขาธิการก่อนเปิดประชุม

 
     
  iconหมวด 8 : การเลิกสมาคมicon  
 

 

ข้อ 40. หากที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกสมาคม โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญของสมาคมแล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการชำระบัญชีเลิกสมาคมโดยพลัน หรือตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในมตินั้น เมื่อชำระบัญชีแล้ว ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลือ ให้โอนแก่นิติบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะตามมติของที่ประชุมใหญ่

 
     
  iconหมวด 9 : การเงินและการบัญชีของสมาคมฯ icon  
 

 

ข้อ 41. การเงินและการบัญชีของสมาคม

(1) การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการของสมาคมจัดทำงบดุล ปีละ 1 ครั้ง แล้วส่งให้ ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แล้วนำเสนอ เพื่ออนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคม ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชี
(2) ปีการบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีการบัญชีของสมาคม

 
     
     

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com