รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤษภาคม 2563
ในเดือนพฤษภาคมราคายางมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ในทิศทางเดียวกันกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ โดยราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 39.88 เพิ่มขึ้น (+0.40%) จาก 39.72 บาท/กิโลกรัมในเดือนเมษายน 2563
เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19ครั้งใหญ่ ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และมีการเปลี่ยนแปลงของประชาชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งอุตสาหกรรมยางพารา ในช่วงเดือนนี้ หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ลดน้อยลง แต่ยังขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนพฤษภาคม และในส่วนภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมและจะเริ่มเดินสายพานการผลิตอีกครั้ง หลังจากหยุดดำเนินการชั่วคราวร่วมระยะเวลา 2 เดือน สถานการณ์ครั้งนี้ นับเป็นโจทย์ท้าทายในการประคับประคองราคายางพาราผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคาดว่าปัจจัยสนับสนุนต่างๆ จากมาตรการทางการเงินและการคลังจากหน่วยงานภาครัฐ จะมีส่วนช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งนี้ การเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวได้อย่างเหมาะสม สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางอาจต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน เช่น การปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือปลูกพืชแซมในสวนยาง และควรหารายได้เสริมอื่นควบคู่ไปในขณะเดียวกัน นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารายังคงเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ราคายางพาราไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว
และในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ การยางแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้หาแนวทางร่วมกันในการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิ์ภาพความปลอดภัยบนท้องถนน ใช้แผ่นยางพาราธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) ของกรมทางหลวง และ กรมทางหลวงชนบท ทั้งยังสนับสนุนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการแปรรูปยางพาราเพื่อป้อนแก่หน่วยงานภาครัฐตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐของทางรัฐบาล
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ มีแนวโน้มหดตัวแรงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากจากเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เนื่องด้วยการระบาดของ COVID-19 แม้ทางรัฐบาลได้เริ่มออกมาตรการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแล้วนั้น ภาคครัวเรือนและธุรกิจยังคงประสบปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ดีมาตรการทางการเงินการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแรงสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนและช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเติบโตและการขยายตัวต่อไป สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที สรุปโดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่าการส่งออก 613,979.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 5.32 แต่ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 11.45 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 18,948.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 2.12 แต่ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 15.43 ในช่วงมกราคม – เมษายน ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 2,517,135.79 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 1.07 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 81,620.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 ...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 39.8 (+10.25%) ในเดือนพฤษภาคม 2563 จากระดับ 36.1 ในเดือนเมษายน 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 36.8 ในเดือนเมษายน 2563 มาอยู่ที่ 41.6 ในเดือนพฤษภาคม 2563
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยราคาปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ -37.63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาเดือน พ.ค. ก่อนที่จะถึงวันสิ้นสุดสัญญา เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องรับซื้อน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสหากสัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เม.ย นับว่าเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของราคาน้ำมัน ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 พ.ค. 63 ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 7.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 534.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล และในช่วงระยะเวลานี้ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลก โรงกลั่นหลายแห่งมีการเพิ่มกำลังการผลิต แต่กลุ่มนักลงทุนยังคงกังวลต่อความตึงเครียดในฮ่องกง หลังจีนเตรียมผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ทำการประกาศคว่ำบาตรประเทศจีน และกดดันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ในเดือนเมษายน 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 351,802.83 ตัน ลดลง 5.50 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม 2563 เพิ่มขึ้น 3.45 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.51 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.37เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม 2563 ลดลง เพิ่มขึ้น 1.85 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนเมษายน 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 6.77 ล้านเส้น ลดลง 35.81 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 9.43 พันล้านบาท ลดลง 29.25 เปอร์เซ็นต์ yoy จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2563 มีทั้งสิ้น 24,711 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 83.55 จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้สะสมเดือนมกราคม – เมษายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 478,393 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2562 ร้อยละ 32.78
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|