รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนตุลาคม 2562
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่กิโลกรัมละ 38.79 บาท ลดลงจากเดือนกันยายน 7.02 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ ในเดือนตุลาคม ราคายางมีการปรับตัวลดลง เนื่องด้วยค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ และตลาดต่างประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ส่วนค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากแรงขายเงินดอลลาร์ และนักลงทุนชะลอดูสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของสหรัฐฯ ส่วนดัชนี (PMI) ภาคการผลิตของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน เริ่มฟื้นตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.4 ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นเป็น 51.7 ในเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งดัชนี Purchasing Managers’ Index (PMI) อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงว่าภาคการผลิตอยู่ในสภาวะหดตัว ในขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.3 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 47.8 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ ธนาคารคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3ของปี เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัว และมีรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนตุลาคม 62 นั้น ปรับเพิ่มขึ้น 128,000 ตำแหน่ง สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว (GDP growth; YoY(%)) ชะลอลงที่ร้อยละ 2.8 และ 3.3 ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ อุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงจากสินค้าประเภทข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ขณะนี้ ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้มีการเฝ้าติดตามปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่จากปัญหาเชื้อรา Pestalotiopsis โดยการระบาดเกิดจากลมที่พัดมาจากประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ประเทศอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคนี้อย่างมาก ส่งผลให้ผลผลิตยางลดลงกว่า 15 % ประมาณ 540,000 ตัน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มยังคงผันผวนในทิศทางลดลง หลังน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) ได้มีการปรับลดการคาดการณ์ของอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกปีนี้และปีหน้า ลดลง 50,000-100,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) เตรียมปรับลดการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าข้อตกลงเดิม ซึ่งอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 2563 โดยกลุ่ม OPEC+ จะทำการประชุมเพื่อหารือถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมวันที่ 5-6 ธันวาคม 2562 นี้ การผลิตและส่งออกรถยนต์มีการหดตัวลง ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยางของไทย แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ที่มีมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางเร่งด่วน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1 ซึ่งได้เลื่อนกำหนดจ่ายเร็วขึ้น เป็นวันที่ 1-15 พ.ย. 62 นี้ พร้อมทั้งได้ปลดล็อคเงื่อนไขบางรายการไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง อย่างไรก็ดี ในด้านการผลิตพบว่าเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 เดือน และภาคการเกษตรที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในเดือนกันยายน ไทยส่งออกยางรวมทั้งสิ้น 311,458 ตัน ลดลง 10.61 เปอร์เซ็นต์จากเดือนสิงหาคม และลดลง 15.32 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.28 หมื่นล้านบาท ลดลง 15.81 เปอร์เซ็นต์จากเดือนสิงหาคม และลดลง 18.22 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมานี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 3,316,698 ตัน ลดลง 2.47 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 1.42 แสนล้านบาท ลดลง 6.68 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกันยายน ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.87 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 1.56 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.43 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.18 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมานี้ ไทยส่งออกยางล้อรวม 100.46 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 55.30 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 1.31 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.83 เปอร์เซ็นต์ yoy
|