รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2563
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ราคายางโดยภาพรวมทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในกรอบแคบ ในทิศทางเดียวกันกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เนื่องด้วยความต้องการยางในประเทศสูง ขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สาเหตุจากประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติต่างได้ผลกระทบจากพายุโซเดล และ โมลาเบ และปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังพบโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา "Colletotrichum sp." ซึ่งพบการระบาดใน 7 จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พังงา พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ กยท. ได้เร่งออกคำแนะนำ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจและแนะแนวทางการป้องกันและกำจัดโรค และในขณะนี้ยังคงมีการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้โรงงานผลิตถุงมือของมาเลเซียล็อคดาวน์จากผลกระทบของโควิด-19 สำหรับราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 64.69 เพิ่มขึ้น (+0.81%) จาก 64.17 บาท/กิโลกรัมในเดือนตุลาคม 2563
ในช่วงที่ผ่านมาราคายางมีความผันผวนเนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ เงินบาทแข็งค่า การขาดแคลนแรงงาน ราคาน้ำมันดิบผันผวน ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ กยท. ที่เป็นหน่วยงานหลักได้เข้ามาดูแล พร้อมเดินหน้ามุ่งแก้ปัญหาราคายางพาราผันผวนอย่างเต็มที่ และดึงโครงการเสริมต่าง ๆ เช่น โครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกร การเพิ่มจุดรับซื้อและรวบรวมน้ำยางสด และ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 เพื่อลดความเสี่ยงด้านรายได้ ซึ่งราคาประกันที่โครงการกำหนดไว้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสดราคา 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาท/กก. รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยระยะเวลาประกันรายได้ ตั้งแต่ ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 และจะเริ่มจ่ายส่วนต่างให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ประมาณปลายเดือน พ.ย. 63 ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยพยุงราคายางไว้ ให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท)
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา มีการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยผู้แทนจาก 15 ประเทศ ในส่วนของไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม และนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานในการลงนาม
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่ใน Q3/2563 มีการปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบน้อยลง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ในหลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา ที่สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงนั้น คาดว่าในปีหน้าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะมีความคืบหน้าในเรื่องของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้ว แต่กว่าจะสามารถใช้งานได้จริงในวงกว้างนั้น ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคงคาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังคงจะหดตัวที่ระดับ -4.4% และ UNCTAD คาดว่า -4.3%
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้นจาก 85.2 เป็น 86.0 เนื่องจากภาคการผลิตฟื้นตัวตามการอุปสงค์ในประเทศ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น แต่ก็ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แม้การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ด่านชายแดนบางด่านยังคงมีการปิดด่าน
เดือนตุลาคม 2563 ส่งออกมูลค่า 600,335.92 ล้านบาท ลดลงจากเดือนตุลาคม 2562 ร้อยละ 4.51 และลดลงจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 1.56 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนตุลาคม 2562 ร้อยละ 6.71 และลดลงจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา ร้อยละ 1.25 ในช่วงมกราคม – ตุลาคม ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 5,987,376.15 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 7.38 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 192,372.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.26 ในเดือนตุลาคม 2563 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 56,138.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 7,712.91 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,046.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 543.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56.7 (+6.18%) จากระดับ 53.4 ในเดือนตุลาคม 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ 50.4 (-0.79%) ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จาก 50.8 ในเดือนตุลาคม 2563 เนื่องด้วยคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลง แต่การปรับตัวดีขึ้นนี้ยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากการผลิตและยอดขายที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการเก็บสะสมวัตถุดิบในสินค้าคงคลังเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะมีอัตราที่ช้าลงก็ตาม จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นทั่วโลกและมาตรการปิดเมืองที่กลับมาอีกครั้งในหลายประเทศอาจมีผลเชิงลบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวในปัจจุบันในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ย. 63 ปรับตัวลดลง 0.75 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 488.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบโอกลาโฮมาปรับตัวลดลงกว่า 1.7 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์มีการปรับตัวในช่วงแคบๆ โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 45.53 และ 48.18 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ในเดือนตุลาคม 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 358,870.27 ตัน เพิ่มขึ้น 17.81 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกันยายน 2563 ลดลง 1.62 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.61 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกันยายน 2563 เพิ่มขึ้น 4.08 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนตุลาคม 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 13.15 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 10.21 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.53 เปอร์เซ็นต์ yoy
จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนตุลาคม 2563 จำนวน 149,360 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.24% เนื่องจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งปีนี้มีสัดส่วน 55.01% ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.81% เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากมีการล็อกดาวน์เดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถกระบะเพื่อขายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของรัฐบาล แต่ผลิตเพื่อส่งออกยังคงลดลงถึง 19.65% ส่วนที่ผลิตเพื่อส่งออก เดือนตุลาคม 2563 เป็นจำนวน 67,203 คัน เท่ากับร้อยละ 44.99 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจำนวน 82,157 คัน เท่ากับร้อยละ 55.01 ของยอดการผลิตทั้งหมด ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,112,426 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2562ร้อยละ 35.53
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|