รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติประจำเดือนกรกฎาคม 2562
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่กิโลกรัมละ 50.34 บาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 14.01 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ ปริมาณยางเข้าสู่ตลาดมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณฝนที่ลดลงในพื้นที่ปลูกยางโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลด้านอุปทานส่วนเกิน กอปรกับสต็อกยางในประเทศจีนเริ่มสะสมมากขึ้น สวนทางกับอุปสงค์ที่ยังคงชะลอตัว เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้จีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจช้าลง ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ความต้องการใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ ของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลด้านอุปทานส่วนเกิน เป็นผลมาจากประเทศผู้ผลิตผลิตน้ำมันเต็มอัตรา ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ความสามารถในการส่งออกยางธรรมชาติของผู้ประกอบการไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกจากการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ 2.9 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายน เป็นระดับที่ใกล้จุดสูงสุดของปีนี้
ในเดือนมิถุนายน ไทยส่งออกยางรวมทั้งสิ้น 326,210 ตัน ลดลง 7.77 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม และ 19.27 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.54 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.95 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม และ 16.95 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 2,318,967 ตัน ลดลง 9.18 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 9.87 หมื่นล้านบาท ลดลง 14.27 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมิถุนายน ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.52 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 4.33 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.55 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.95 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางล้อรวม 65.76 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 1.66 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 8.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.11 เปอร์เซ็นต์ yoy
|